Exclusive Interview:
กฟผ ปักธงแนวคิด “Triple S” สร้างความเสถียรด้านไฟฟ้า พัฒนาพลังงานสะอาด ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
โดย : นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน
รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

“วันนี้เป้าหมายของประเทศไทย คือ การยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในทุกวิถีทาง สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ (กฟผ.) เราพร้อมปรับตัวเพื่อร่วมบริหารจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างสมดุล ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากโครงการโรงไฟฟ้า Hydro-floating Solar Hybrid จำนวน 2,725 เมกะวัตต์ ภายใน 5-10 ปี ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างระบบสายส่งไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอนาคต  พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายองค์การเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050” นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เผยถึงภาพรวมการดำเนินงานและก้าวเดินต่อจากนี้ของ กฟผ.ได้อย่างน่าสนใจ

               โดยทางนายประเสริฐศักดิ์ เล่าต่อไปว่า ก่อนจะก้าวไปสู่การเป็น “Net zero emissions” หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ วันนี้ กฟผ.ได้ประกาศนโยบาย Carbon Neutrality หรือการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 โดยใช้กลยุทธ์ “Triple S”  หรือ 3S ซึ่งประกอบไปด้วย 1.Sources Transformation  2. Sink Co-creation และ 3. Support Measures Mechanism โดยทั้ง 3S มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

1.Sources Transformation หรือ การเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากแต่เดิมที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นหลัก แต่ในขณะนี้ กฟผ.ได้ลดการใช้พลังงานดังกล่าวเนื่องจากมีผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยวางเป้าและเริ่มขับเคลื่อนการนำพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทดแทน (Renewable Energy) มาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด จำนวน 16 โครงการทั่วประเทศ กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ เพื่อให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมกันนี้นอกจากลดและปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลให้น้อยลง อีกมิติที่ทาง กฟผ. เดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือการการปรับปรุงพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และ ระบบจำหน่ายไฟฟ้า โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือ (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต เพราะแต่เดิม เราออกแบบมาสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นโรงไฟฟ้าฟอสซิล

               2. Sink Co-creation หรือการเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาทาง กฟผ.ได้เริ่มทำการปลูกป่ามาแล้วกว่า 4 แสนไร่ใน 51 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยเริ่มดำเนินการปลูกป่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ต่อจากนี้มีแผนจะปลูกป่าในอีก 10 ปี (ปี 2565-2574) ให้ได้ 1 ล้านไร่ หรือเฉลี่ยปีละ 100,000 ไร่ โดยร่วมกับพันธมิตร อย่างน้อย 3 กรม ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งตลอดการปลูก 10 ปี จะบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 9 ปี เพื่อดูดซับและเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่า 1.2 ล้านตัน CO2 ต่อปี ทั้งนี้คาดว่า ตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนฯ ได้ทั้งสิ้นประมาณ 23.6 ล้านตัน

               3.Support Measures Mechanism หรือ กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ในส่วนนี้ คือ การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างที่เราคุ้นหูกันในโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ถือเป็นหนึ่งส่วนที่สำคัญของการขับเคลื่อนในมิตินี้ พร้อมกันนี้อนาคตเรายังพร้อมให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์โลกและความต้องการของคนไทย

               “การเดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการมองหาวิธีในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยั่งยืนอย่างการปลูกป่า ตลอดจนการมองหากลไกใหม่ๆที่สนับสนุนการลด ชดเชยและหลีกเลี่ยงการสร้างภาวะเรือนกระจก ทั้งหมดแสดงออกถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทย โดยให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งก้าวเดินต่อจากนี้ พลังงานไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาด และเราพร้อมในทุกการสนับสนุน” นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *