วันนักประดิษฐ์ ชื่นมื่น วช.มอบรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์เยาวชนในโครงการ
ประกวดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ I-New Gen Award 2023
อย่างยิ่งใหญ่ ผลงานชนะการประกวดพร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ประกาศผลสถานศึกษาผู้พิชิตรางวัลในโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ I-New Gen Award 2023 ภายใน“งานวันนักประดิษฐ์2566” ครั้งที่ 24 อย่างเป็นทางการโดยในปีนี้ มีผลงานจากนักประดิษฐ์มาจัดแสดงทั้งสิ้น จำนวน 446 ผลงาน ได้แก่ ระดับชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 245 ผลงาน ระดับอาชีวศึกษา 103 ผลงาน และ ระดับอุดมศึกษา จำนวน 98 ผลงาน ปีนี้ จัดให้มี 3 เวทีแสดงผลงานต่อหน้าคณะกรรมประจำแต่ละโซน เพื่อให้ทีมนักประดิษฐ์ใช้เป็นเวทีในการนำเสนอผลงานในแบบ Pitching Stage และการเดินตรวจผลงานในบูธต่างๆ ของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ ทุกวัน  ซึ่งผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ สุขภาพและการแพทย์  การเกษตร อาหาร พลังงาน และ การท่องเที่ยว ตลอดระยะเวลาการจัดงานเหล่านักประดิษฐ์เยาวชนต่างสนุกสนานกับการเล่าถึง แนวคิด แรงบันดาลใจ ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ให้กับผู้มาเยี่ยมชมงานเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลาที่จัดงาน

ดร.วิภารัตน์​ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า โครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม I-New Gen Award 2023 มุ่งขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่เน้นการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจ สู่การเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ให้พัฒนาด้วยงานวิจัย ประดิษฐ์คิดค้น และนวัตกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน นอกจากนี้การจัดให้มีเวทีแข่งขันให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้นจะเป็นการสร้างโอกาสในการขยายฐานบุคลากร ให้มีความพร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นนักวิจัย และนวัตกร ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ต่อไปโดยในปีนี้คณะกรรมการมีความเห็นพ้องต้องกันว่าหลักในการคัดเลือกผลงานดีเด่นเหมาะสมกับการรับรางวัลในปีนี้คือ ผลงานนั้นจะต้องมีหลักการและแนวคิดที่มุ่งหวังให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และสามารถต่อยอดไปเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ได้

ผลการตัดสินรางวัลประเภทต่างๆ มีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ กลุ่มเกษตร โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จ.เพชรบุรี ผลงานเครื่องระบุระดับความสุกของมะม่วงน้ำดอกไม้ // วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ผลงาน เครื่องผสมเกสรดาวเรือง  // มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผลงาน  ชุดตรวจสอบการติดพยาธิใบไม้ลำไส้ ขนาดเล็กชนิด Centrocestus formosanusในปลาเศรษฐกิจ กลุ่มอาหาร รางวัลชนะเลิศโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ผลงาน ผลิตภัณฑ์ผงกำจัดพยาธิใบไม้ตับในเนื้อปลาด้วยข่าอ่อนจากธรรมชาติ // วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ผลงาน  เครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน //ระดับอุดมศึกษาไม่มีผู้ได้รับรางวัล // กลุ่มสุขภาพการแพทย์ รางวัลชนะเลิศ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ นาโนพลาสเตอร์พลัสโพรโพลิส //วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา  ผลงาน หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วย อัมพฤกษ์ อัมพาต //มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี   ผลงาน อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปสำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว   กลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ รางวัลชนะเลิศ   โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง เซนเซอร์ตรวจจับไฟป่าด้วยปัญญาประดิษฐ์​ // มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี   ผลงาน อุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากโลหะผสมจำรูปสำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว // ระดับอุดมศึกษาไม่มีผู้ได้รับรางวัล กลุ่มการท่องเที่ยว รางวัลชนะเลิศ     โรงเรียนเมืองคง จ.นครราชสีมา ผลงานออกแบบลายผ้า “คงคนคร” ด้วยโปรแกรม Gometer’s Sketchpad [GPS] ส่งเสริมการท่องเที่ยว อ.คง จ.นครราชสีมา ​ // กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง จ.นครปฐม ผลงาน  ชุดเครื่องประดับถมนครา ร่วมสมัย // จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    ผลงาน โคมคราฟต์ นวัตกรรมต้นแบบจากกิจกรรมศิลปะพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีถัดไป

ความสำเร็จของเยาวชนผู้ได้รับรางวัลรวมถึงเยาวชนเจ้าของผลงานทุกคนที่ส่งผลงานเข้าร่วมในโครงการประกวด I-New Gen 2023 ในปีนี้ ล้วนแล้วแต่คิดสร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบโจทย์ แก้ไขปัญหาให้กับทุกภาคส่วน ที่สำคัญที่สุดแนวคิดการสร้างสรรค์ก็เป็นผลงานที่พร้อมต่อยอดในการใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ วช.ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดงานมั่นใจว่า เยาวชนรุ่นใหม่ของไทยในวันนี้มีศักยภาพที่ถึงพร้อมต่อยอดการพัฒนาให้เป็นนักวิจัยและนวัตกรในวันหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ช่องทางในการขยายฐานบุคคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคตต่อไป

ผลงาน ออกแบบลายผ้า คงคนคร​ด้วยโปรแกรม GEOMETER’S SKETCHPAD เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้รับรางวัลระดับชนะเลิศ กลุ่มท่องเที่ยว ระดับมัธยม เป็นผลงานจากนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ จากโรงเรียน เมืองคง จ.นครราชสีมา นายวิชยุตม์ แก้วเงิน เป็นตัวแทนเล่าว่า ผลงานนี้ พวกเราช่วยกันคิดค้นกับเพื่อน นางสาวจันทัปปภา พงษ์ศิริจันทร์ และ นางสาวฌัชชานันท์ ดีนวล ออกแบบลายผ้าด้วยโปรแกรม GSP โดยแปลงลายทางคณิตศาสตร์และตรีโกณมิติบูรณาการกับ ลวดลายของไม้ดอกไม้ประดับภายในสวนพฤกษศาสตร์ของโรงเรียน เพื่อสร้างให้เป็นลายผ้าใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ  โดยเลือกโครงสร้างจากส่วนกลางเกสรดอกชวนชม ยอดดอกฟ้าทะลายโจร และเมล็ดผักชี มาผสมผสานสร้างลวดลายขึ้นใหม่ งดงาม  และมีความร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ผลงานนี้ได้รับการนำไปเผยแพร่แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านพะงาดที่มีอาชีพทอผ้าไหม การถ่ายทอดองค์ความรู้นี้กลุ่มผู้ทอผ้าของหมู่บ้านชื่นชอบและนำเป็นลวดลายใหม่ในการทอ และกำลังได้รับความนิยมอีกลายหนึ่ง นอกจากนี้ลวดลายของผ้าเมื่อทอแล้วเสร็จยังสามารถนำไปดัดแปลงเป็นผลงานอื่นๆ อาทิ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า อุปกรณ์ตกแต่งอื่นๆ ได้อย่างลงตัว

          จิตติวัฒน์​ ลี้ไพฑูรย์ นักประดิษฐ์จาก วิทยาลัยเทคนิค ฉะเชิงเทรา เจ้าของ ผลงาน หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์​ อัมพาต เจ้าของรางวัลชนะเลิศรางวัลในกลุ่ม สุขภาพระดับ อาชีวะ เล่าว่า การออกแบบนี้เพื่อผู้ป่วยไร้ความรู้สึกท่อนล่างให้สามารถเคลื่อนที่ได้ตามรูปแบบการเคลื่อนไหว เช่นระบบกรควบคุมการก้าวเดินในลักษณะท่าทางการยืน และการเดินต่อเนื่องสามารถสั่งการได้จากแป้นควบคุมสมองกลฝังตัวประมวลผลการเดินจำนวน 4 ชุดสำหรับควบคุมสะโพกและข้อเข่า สามารถทำงานต่อเนื่องได้ 1 ชั่วโมง รองรับน้ำหนักผู้ป่วยได้ถึง 90 กิโลกกรัม เหมาะสำหรับบำบัดรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตท่อนล่างได้ดี และสามารถสั่งซื้อได้ ขณะนี้มีใช้แล้วในโรงพยาบาลต่างๆ

ภัณฑิรา สารรัตน์, พิริษา โพธิ์เสนา และ ณัฐภาส ศรีอารักษ์  จากโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอด้วยผลงาน “กำแพงเขื่อนตลิ่งป้องกันน้ำแบบพ๊อปอัปอัตโนมัติ (Automatic Pop-up Barrier)” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ2 กลุ่มพลังงาน เล่าถึงแนวคิดของผลงานว่า  ด้วยระบบการทำงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฐานเก็บกำแพงกั้นน้ำ ที่ด้านล่างเป็นช่องว่างรับน้ำ เมื่อมีปริมาณน้ำสูงขึ้น ปริมาณน้ำนี้จะเป็นแรงดันให้กำแพงยกตัวออกมาจากฐานขึ้นมากั้นน้ำไม่ให้ล้นตลิ่ง และกำแพงกั้นน้ำจะลดตัวลงก็ต่อเมื่อปริมาณน้ำลดลง ซึ่งกำแพงกั้นน้ำแบบป๊อบอัปอัตโนมัตินี้อาศัยพลังขับเคลื่อนจากปริมาณมาณน้ำที่เข้าออกห้องเก็บน้ำ จึงไม่จำเป็นต้องพลังงานไฟฟ้าซึ่งจะก่อให้เกิดอันตราย หรือระบบไฮโดรลิกที่เป็นเครื่องจักร และยังไม่ต้องใช้กำลังคนในการเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นกำแพงกั้นน้ำแบบพ๊อปอัปเมื่อน้ำลดหรืออยู่ในช่วงเวลาปกติ กำแพงกั้นน้ำจะถูกเก็บลงไปทำให้ไม่ทำลายทัศนียภาพริมแม่น้ำ ซึ่งการจะสร้างกำแพงกั้นน้ำแบบพ๊อปอัปอัตโนมัติ สิ่งสำคัญคือการจัดเจ็บข้อมูลปริมาณน้ำที่ต่ำสุดและสูงสุด เพื่อนำมาหาความสูงในการติดตั้งกำแพงกั้นน้ำ

          แม้ขณะนี้จะเป็นเพียงผลงานต้นแบบ แต่เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผลงานกำแพงเขื่อนตลิ่งป้องกันน้ำแบบพ๊อปอัปอัตโนมัติ (Automatic Pop-up Barrier) นั้นจะช่วยความสูญเสียจากเหตุอุทกภัยในฤดูฝนได้อย่างแน่นอน

           “ผิวหนังเทียมทำจากเจลาตินเมทาคริโลอิล และเซลล์ต้นกำเนิดผสมโกรทแฟคเตอร์ด้วยเทคนิคการพิมพ์ชีวภาพสามมิติสำหรับการรักษาแผล” เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 กลุ่ม การแพทย์   สิ่งประดิษฐ์สุดล้ำจากทีมนักประดิษฐ์ วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี กิติพงษ์ ปาสาณพงศ์ นักศึกษาปริญญาโท ผู้ร่วมคิดค้นพัฒนาผลงานนี้ บอกว่า ผิวหนังเทียม เป็นการนำหมึกพิมพ์ชีวภาพชนิดเจลาตินเมทาคริโลอิล ที่มีสารตั้งต้นจากเจลาตินหนังปลา โครงเลี้ยงเซลล์ ผสมเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ และโกรทแฟคเตอร์ นำไปขึ้นรูปเป็นผิวหนังเทียมด้วยเครื่องพิมพ์ชีวภาพสามมิติ ให้มีลักษณะและขนาดเท่ากับแผลบนผิวหนัง เชื่อมด้วยแสงยูวี เพื่อให้ผิวหนังเทียมสมานตัวเข้ากับผิวหนังจริงได้ จากการทดลองยังพบว่าไม่เพียงแค่ปิดแผลได้เรียบเนียน แต่ผิวหนังเทียมชนิดนี้ ยังมีขนขึ้นบริเวณรอบแผลเหมือนผิวหนังปกติ

          “ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตในการนำไปทดลองวิจัยใช้กับคนจริงๆ และกระบวนการต่างๆ ทางการแพทย์ หากสามารถผลิตได้จริง ก็ไม่จำเป็นต้องปลูกถ่ายผิวหนังด้วยการนำผิวหนังจากบริเวณอื่นมาใช้ ลดความเจ็บปวด ร่นระยะเวลาในการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง และแทบจะไม่เห็นร่องรอยแผลเป็นบนผิวหนังที่ใช้ผิวหนังเทียม”

Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *