
ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้พูดคุยหารือกัน ในประเด็นคำถามที่ว่า “มรดกทางวัฒนธรรมจะสามารถมีบทบาทในฐานะเครื่องมือหรือทางออกให้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้หรือไม่” ในงานเสวนาของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 12-14 มกราคม ที่ผ่าน เหล่านักวิชาการ นักเคลื่อนไหว กลุ่มคนผู้ขับเคลื่อนสังคมที่มีชื่อเสียง และคนรุ่นใหม่จากกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ร่วมกันเสนอว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถมีส่วนช่วยในการหาวิธีรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
เป้าหมายหลักของการประชุมเสวนาครั้งนี้ คือการยกระดับประเด็นที่นำเสนอในงานให้ไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับการกำหนดนโยบายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวชี้วัดสำคัญของความสำเร็จในการประชุมครั้งนี้ที่ไปไกลกว่าระดับภูมิภาค คือการที่ Climate Heritage Network (CHN) ได้เชิญสยามสมาคมฯ และ SEACHA ให้เป็นประธานคณะจัดงานร่วมกับ Petra National Trust (PNT) เพื่อนำเสนอบทบาทของ “ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ในงาน UN Climate Change Conference – COP 28 ปี 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปลายปีนี้ คุณกนิษฐา กสิณอุบล กรรมการผู้จัดการของสยามสมาคมฯ กล่าวว่า “คำเชิญดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุมเสวนาเรื่อง Cultural Wisdom for Climate Action ที่เราได้จัดขึ้นก่อนหน้า และทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสยามสมาคมฯ และ SEACHA ในการแก้ปัญหานี้ในทุกระดับ ทั้งระดับชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และระดับโลก”

โดยตลอดงานทั้งสามวัน ผู้เข้าร่วมได้รับฟังวิธีการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านการเสวนาที่เสนอว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นและมรดกทางวัฒนธรรม สามารถเป็นแนวทางในการสร้างแผนยุทธศาสตร์รับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของกลุ่มประเทศอาเซียน ศ. ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ได้ให้เกียรติเปิดการประชุมด้วยการนำเสนอหัวข้อ “From the floating lotus to Groot’s wisdom: Engaging contemporary ecological challenges with Southeast Asian cultures”
จากนั้นผู้เข้าร่วมการเสวนาได้พูดคุยกัน ในหัวข้อตั้งแต่ประเด็นทั่วไป เช่น การดำรงชีวิตกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการขยายตัวของเมืองและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ไปจนถึงประเด็นที่ลึกซึ้งและทำให้ฉุกคิด ซึ่งมักไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในการเสวนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เช่น ความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับธรรมชาติและการรับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้มีโอกาสรับฟังมุมมองการประยุกต์ใช้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน วิถีการออกแบบของชนพื้นเมือง และโครงสร้างทางสังคมในท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้และเปิดประเด็นเสวนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้งานเสวนา The Cultural Wisdom for Climate Action ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ นายโจชัว อานัค เบลายัน เยาวชนของ SEACHA จากประเทศบรูไนเป็นผู้เริ่มงานเสวนา และยังมีการเสวนาช่วงอื่นๆ ที่ได้เยาวชน SEACHA จากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นทั้งผู้บรรยาย และผู้ดำเนินการเสวนา
ความสำเร็จของงานเสวนา The Cultural Wisdom for Climate Action และ คำเชิญให้ไปต่อยอดประเด็นที่นำเสนอในงานเสวนาครั้งนี้ ที่การประชุม UN Climate Change Conference ได้สะท้อนถึงเป้าหมายขององค์กรผู้จัดงาน ที่ต้องการจะสร้างบทสนทนาที่คำนึงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และสนับสนุนความมุ่งมั่นของกลุ่มเยาวชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้จะมากำหนดทิศทางของโลกในภายภาคหน้า
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นองค์กรทางวัฒนธรรมของไทยที่มีขอบเขตการทำงานระดับสากล ทำหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา และแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของไทยและของประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเข้าชมเว็บไซต์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมของสยามสมาคมฯ และการสมัครสมาชิกได้ที่ https://thesiamsociety.org/
สมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACHA)
องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐบาล ประชาชน และ หน่วยงานภาคธุรกิจต่างๆ โดยมีเป้าหมายรังสรรค์นโยบายการพิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และคิดหาแนวทางการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อคนรุ่นหลัง สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับที่มา กิจกรรม และเป้าหมายของ SEACHA ได้ที่ https://seacha.org/