“ปลุกพลังรุ่นใหม่ สร้างเมืองยั่งยืน : BERAC2024 เวทีแห่งนวัตกรรมไร้พรมแดน”


ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ Built Environment Research Associates Conference ครั้งที่ 15 หรือ BERAC2024 ภายใต้หัวข้อ “Synergy in Global Perspectives: Innovations Driving Sustainable Development across Borders” จัดโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เมื่อเร็วๆ นี้

BERAC2024 ไม่เพียงแต่รวบรวมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในวงการสถาปัตยกรรมและการผังเมืองเท่านั้น แต่ยังมีไฮไลท์สำคัญ คือการเสวนาในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของชุมชนสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี” (Community Engagement and Well-Being)  โดยได้รับเกียรติจากเหล่าคนรุ่นใหม่ที่มีไฟในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองและชุมชน อย่าง คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณโทนี่ รากแก่น นักแสดงและอินฟลูเอนเซอร์สายกรีน และ รศ.ดร. ดารณี จารีมิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูล โดยมี คุณชุติมา ขจรณรงค์วณิช จากเพจ Realist เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยแนวคิดการพัฒนาชุมชนแบบ Bottom-up ว่าหัวใจของการพัฒนาคือการสร้างคน เพื่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พร้อมยกตัวอย่างโครงการของ กทม. ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่ชุมชน เช่น โครงการอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน BKK Food Bank และสวนผักชุมชน เป็นต้นโดยกล่าวว่า “การสร้างความร่วมแรงร่วมใจในชุมชนอย่างยั่งยืนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโดยคนในชุมชนเป็นหลัก โดยภาครัฐควรสนับสนุนระบบที่เอื้อให้ชุมชนพัฒนาตนเองและรองรับความเสี่ยงในการทดลองโครงการ ผู้พัฒนาต้องเข้าใจเป้าหมายและแรงผลักดันของคนแต่ละรุ่นที่แตกต่างกัน และสร้างเป้าหมายร่วมกันเพื่อลดอุปสรรคจากตัวชี้วัดที่ต่างกัน เช่น เป้าหมายและงบประมาณ ในอนาคต การทำงานของ กทม. จะเน้นการฟื้นฟูชีวิตปกติของประชาชนผ่านโครงการที่ตอบโจทย์ชุมชน เช่น การแยกขยะหรือการปลูกสวนผักชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน”

คุณโทนี่ รากแก่น นักแสดงชื่อดัง ที่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์สู่การเป็นอินฟลูฯ สายกรีน ได้แชร์แนวคิดการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพในระดับบุคคล โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.การจัดการการเงินและหนี้สิน 2.การมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และ 3.การผลิตอาหารที่ปลอดภัย โดยยกตัวอย่างการจัดการพื้นที่ 1.5 ไร่ให้สามารถผลิตอาหาร พลังงาน และบำบัดน้ำได้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและควบคุมคุณภาพ โดยกล่าวว่า “ผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ควรมุ่งเน้นที่สุขภาพกายและใจ โดยจัดการเรื่องการเงิน วางแผนการใช้จ่าย สร้างบ้าน ทำสวน และมีเวลาดูแลสิ่งเหล่านี้ ซึ่งอุปสรรคสำคัญ 5 ข้อที่จะทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตนี้เป็นไปได้ยาก คือ 1.ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน 2.ความรู้ในการดูแลสวน 3.การออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับการเงิน 4.การสร้างวิถีชีวิตที่สมดุลในธรรมชาติ และ 5. การบริหารจัดการระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน”

รศ.ดร. ดารณี จารีมิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง ‘กุญแจสำคัญ 5 ประการ ในการสร้างเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน’ ที่ควรมีคือ

1. การวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) สามารถเริ่มจากข้อมูลในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำหนัก รายได้ และค่าใช้จ่าย

2. Digitalization และ data analytics เป็นทักษะที่ควรพัฒนาควบคู่กัน โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ

3. ความยั่งยืนในการใช้เทคโนโลยีต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงานควบคู่กับการรักษาประสิทธิภาพการใช้งาน

4. ผู้นำด้าน digitalization ต้องปรับ mindset ให้พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเครื่องมือดิจิทัลอย่างยั่งยืน

5. อุปสรรคสำคัญในการใช้ AI คือการสร้างคำถามที่ถูกต้องและการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างเหมาะสม ควบคู่กับการปฏิบัติตามกฎหมายความเป็นส่วนตัว

งานประชุมวิชาการระดับชาติ Built Environment Research Associates Conference ครั้งที่ 15  หรือ BERAC2024 นับเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญในสาขาสถาปัตยกรรมและการผังเมือง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นงานประชุมวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นการจุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการร่วมกันพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน โดยภายในงานยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิจัย และนักวิชาการรุ่นใหม่ได้นำเสนอผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบัน โดยมีการนำเสนอบทความวิจัยกว่า 81 เรื่อง ครอบคลุม 5 สาขาหลัก คือ 1. การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เมืองและการวางผังเมืองแบบมีส่วนร่วม (Transforming Urban Landscapes and Inclusive Urban Planning)   2. การสร้างสมดุลระหว่างสุนทรียศาสตร์เชิงทฤษฎีและความยั่งยืนในสถาปัตยกรรม (Balancing Theorical Aesthetics and Sustainability in Architecture)  3. การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและเทคโนโลยีการก่อสร้างนวัตกรรมเพื่อความยืดหยุ่น (Digital Transformation and Innovative Building Technology for Resilience)  4. การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืนและการจัดการการออกแบบแบบร่วมมือ (Sustainable Real Estate Development and Collaborative Design Management)  5. การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นและหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Resilient Infrastructure Design and Circular Economy Principles)

ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. กล่าวทิ้งท้ายว่า “BERAC2024 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายนักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ด้วยพลังแห่งนวัตกรรมและความร่วมมือที่ไร้พรมแดน เราหวังว่าเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่หว่านไว้ในวันนี้ จะเติบโตเป็นเมืองแห่งอนาคตที่น่าอยู่สำหรับทุกคนในวันข้างหน้า “

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามรายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลด “BERAC2024 Proceeding” ได้ที่เว็บไซต์ https://www.berac.tds.tu.ac.th/ และติดตามคลิปการเสวนาย้อนหลังได้ทาง Facebook: TDS Graduate Program


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *