เอสซีจี ชี้เทคโนโลยีและความร่วมมือ ความหวังกู้โลกเดือด ก่อนถึงจุดเปลี่ยนที่ไม่อาจเยียวยาได้


นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

เอสซีจี ร่วมแบ่งปันมุมมองบนเวที Techsauce Global Summit 2024 ชี้ประเด็น เราจะอยู่กันอย่างไร? หากอุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกินกว่าจุดที่จะแก้ไขและอยู่ได้ โจทย์ความยั่งยืนวันนี้จึงต้องเร่งทั้งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ฟื้นฟูธรรมชาติ และดูแลสังคม โดยใช้เทคโนโลยีและความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญ  

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ร่วมแบ่งปันมุมมองบนเวทีเสวนา The World after Sustainability: What’s the Next Global Agenda ในงาน Techsauce Global Summit 2024 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ต่อสถานการณ์โลกเดือดในปัจจุบัน ที่อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มจะสูงถึง 2 องศาเซลเซียส และอาจเพิ่มขึ้นแตะ 2.5-3 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันของโลกที่ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนไป เปลี่ยนผืนป่าสู่ทะเลทราย เมื่อถึงจุดนั้น สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมจะได้รับผลกระทบเกินกว่าจะเยียวยา ทุกคนต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดในโลกที่ไม่เหมือนเดิม ความท้าทายนี้ทำให้การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สังคม มีความสำคัญมากขึ้น และต้องทำควบคู่ไปกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

“เอสซีจีตั้งเป้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ Net Zero 2050 ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อไปถึงเป้าหมายในอีก 26 ปีข้างหน้า แต่สถานการณ์โลกเดือดที่ผ่านมาเป็นตัวบอกว่าต้องเร่งมือเพิ่มขึ้น ทั้งการลดและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม โดยมีเทคโนโลยีและความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญ

นายธรรมศักดิ์ ยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวเดินเรื่องในการฟื้นฟูธรรมชาติ “ระบบนิเวศทางท้องทะเลได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้ทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ของปะการังเสื่อมโทรม เอสซีจีจึงนำเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาสร้างสรรค์ ‘บ้านปะการัง’ ที่มีความคล้ายกับปะการังจริง กลมกลืนกับธรรมชาติมีประสิทธิภาพในการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง ผลิตจากปูนซีเมนต์รักษ์โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล แข็งแรง ทนทาน มุ่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลไทย

ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ช่วยให้โลกค้นพบความเป็นไปได้ของนวัตกรรมลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ล้ำหน้ายิ่งขึ้น และเอสซีจีเร่งเดินหน้าพัฒนา เช่น SCGC (เอสซีจีซี) ร่วมกับ Avantium ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านเคมีทดแทน (Renewable Chemistry) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผลิต ‘พอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบ’ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต รวมถึงสามารถย่อยสลายได้ทั้งในสภาวะธรรมชาติและในทะเล นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ Braskem ผู้นำพลาสติกชีวภาพระดับโลก จากประเทศบราซิล ใช้จุดเด่นของประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม นำผลิตผลจากภาคเกษตรมาพัฒนาเป็น ‘พลาสติกชีวภาพ’ พลาสติกรักษ์โลกที่ผลิตคาร์บอนเป็นลบ (Negative Carbon Footprint) สามารถรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป”

ความร่วมมือเป็นอีกหนึ่งเครื่องเร่งสำคัญที่จะทำให้เราและโลกอยู่รอด นายธรรมศักดิ์ เล่าว่า “เอสซีจีเริ่มพัฒนานวัตกรรมกรีน ‘ปูนคาร์บอนต่ำ’ เมื่อหลายปีที่แล้ว ในเวลานั้นไม่มีใครเชื่อว่าจะทำสำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเดียวกัน ลูกค้า และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ แต่ผลลัพธ์จากการพัฒนาครั้งนี้ สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากสัดส่วนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 70 ในปี 2566 และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ความตั้งใจนี้คงไม่มีวันเป็นไปได้”

อย่างไรก็ตาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ยังเน้นย้ำว่า ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน กลุ่มคนตัวเล็กจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เราจำเป็นต้องช่วยเหลือกันซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกคนเปลี่ยนผ่านไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

“เอสซีจีพร้อมเป็นส่วนหนึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อส่งต่อโลกที่ยั่งยืนน่าอยู่ถึงคนทุกรุ่นและความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อีกมาก เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง ถ้าหากทำเพียงลำพัง อุณหภูมิโลกก็จะยังสูงเกินกว่าทุกคนจะรับไหว เวลานั้นไม่ว่าใครก็จะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด”

Techsauce Global Summit 2024 งานประชุมสุดยอดด้านเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ธีม ‘The World of Tomorrow With AI’ โดยมีผู้นำทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญสายเทคโนโลยีจากหลากหลายสาขา รวมกว่า 350 ท่าน มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ ความรู้ และประสบการณ์ ระหว่างวันที่ 7 – 9 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *