สถานการณ์ “ขยะพลาสติก” เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก หากยังไม่มีระบบการจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพได้มีการคาดการณ์ว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า จะมีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมทั่วโลก จำนวนมากถึง 700 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนบก และระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ จากการศึกษางานวิจัยพบว่า มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์จากการบริโภคสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา พบว่า 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สำหรับประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 10 ของโลกพร้อมกับประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ดังนั้น การจัดการขยะพลาสติกจึงต้องเป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคที่ใช้ทะเลหรือมหาสมุทรร่วมกัน
จากปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการขยะพลาสติกระดับภูมิภาค เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนาม “เครือข่ายนวัตกรรมพลาสติกอินโด-แปซิฟิก (The Indo–Pacific Plastics Innovation Network หรือ IPPIN)” ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคที่ทำงานร่วมกันของประเทศต่าง ๆเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในการดำเนินการด้านการวิจัย การประกอบการ และการลงทุน รวมทั้งร่วมจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย และดำเนินการโดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย (The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization หรือ CSIRO) พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียและจะขยายผลไปยังประเทศลาวและกัมพูชาต่อไป ผ่านการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเชิงพื้นที่ ซึ่งในปีนี้ CSIRO ได้มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเพื่อร่วมหยุดยั้งปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยได้จัด“การประชุม CSIRO Ending Plastic Waste Symposium 2024” ขึ้นในวันที่ 6 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือของเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ พร้อมทั้ง มีการนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานของ IPPIN และทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โดยภายในเวทีนานาชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอันครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคตามมาตรฐานสากลที่ยึดมั่นในความเป็นกลาง เพื่อร่วมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เข้าร่วมงานในบทบาทของ Advisory Group Member, Thailand Chapter, Indo–Pacific Plastics Innovation Network (IPPIN) พร้อมทั้งได้ร่วมนำเสนอข้อมูลภายใต้ธีม Envisioning 2030: the pivotal role of Southeast Asian countries in ending plastic waste เกี่ยวกับการดำเนินงานของ TEI ในการขับเคลื่อนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งในเชิงระดับนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics เป็นการผนึกกำลังความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และการสร้างโมเดลการจัดการขยะและขยะทะเลในพื้นที่เกาะ โดยการพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะเกาะลันตา เสนอแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะเกาะ และแนวทางการจัดการขยะพลาสติกทะเล รวมถึง การพัฒนาโมเดลการจัดการขยะพลาสติกในชุมชนเมืองแบบครบวงจร และการสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายตาม Roadmap และแผนปฏิบัติการการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย ที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกของประเทศบนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศพร้อมทั้ง ร่วมรับฟังสัมมนาในหัวข้อที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ อาทิเช่น ผลกระทบต่อสุขภาพจากไมโครพลาสติกในระบบนิเวศ พลาสติกทางการแพทย์ การเกษตร การก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์อาหาร และการจัดการขยะพลาสติก ตลอดจนการเยี่ยมชมนิทรรศการงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกจากหน่วยงานต่าง ๆ หลากหลายประเทศทั่วโลก โดยงานวิจัยภายในงานทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของภารกิจยุติขยะพลาสติกของCSIRO ที่ประเทศออสเตรเลียมีเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี 2030
—– เรามาหยุดยั้งปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกร่วมกัน —–
To Protect Tomorrow Together