‘กรมทะเล’ เผยสถานการณ์ปะการังฟอกขาว เตรียมฟื้นฟูตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง


วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในปี พ.ศ. 2567 ว่า ปะการังฟอกขาว เป็นสภาวะที่ปะการังสูญเสียสาหร่ายเซลล์เดียว (Zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังแบบพึ่งพากัน (Symbiosis) และเป็นแหล่งพลังงานหลักของปะการัง ทำให้ปะการังอ่อนแอเพราะไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และอาจตายได้ในที่สุดหากอยู่ในสภาวะเครียดเป็นเวลานาน สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการฟอกขาวเป็นวงกว้างคือ ภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น จนปะการังเครียดและสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลีในเนื้อเยื่อให้ปะการังจนเห็นโครงสร้างหินปูนสีขาว นอกจากอุณหภูมิน้ำที่ร้อนขึ้นแล้ว น้ำจืด รวมทั้งสารเคมี และมลพิษต่างๆ ที่ไหลลงสู่ทะเล ล้วนส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการฟอกขาวของปะการัง สำหรับประเทศไทยในปีนี้ สถานการณ์ปะการังฟอกขาวค่อนข้างรุนแรง โดยฝั่งอ่าวไทยเริ่มมีรายงานพบปะการังฟอกขาวในช่วงกลางเดือนเมษายนและสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ฝั่งทะเลอันดามันเริ่มเริ่มมีรายงานพบปะการังฟอกขาวในช่วงกลางเดือนเมษายนและสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ฝั่งทะเลอันดามันเริ่มมีรายงานปะการังฟอกขาวในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมและสูงสุดในเดือนมิถุนายน สำหรับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวโดยภาพรวมของประเทศไทย มีอัตราการฟอกขาวประมาณ 60-80% หลังจากนั้นปะการังที่ฟอกขาวค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น 60% และมีบางส่วนตายไป 40% จากการสำรวจพบปะการังน้ำตื้นโซนแนวราบคือบริเวณโผล่พ้นน้ำหรือปริ่มน้ำในช่วงเวลาน้ำลงสุดฟอกขาวเฉลี่ยมากกว่า 80% แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยมากกว่ากว่า 90% ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 60-70% ปะการังที่ตายจากการฟอกขาวเฉลี่ย 50% แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยมากกว่า 90% ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 20-30% ในพื้นที่น้ำลึกบริเวณปะการังแนวลาดชันที่มีระดับความลึกมากกว่า 3 เมตร พบการฟอกขาวเฉลี่ย 60% แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยอยู่ระหว่าง 80-90% ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 40-50% ปะการังที่ตายจากการฟอกขาวเฉลี่ย 30% แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยอยู่ระหว่าง 30-40% ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 15-25% อย่างไรก็ตามพบแนวปะการังในบางพื้นที่ที่ไม่พบปะการังฟอกขาว ประมาณ 10% โดยมีรายละเอียดแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ จากการสำรวจเบื้องต้นพบชนิดปะการังที่เสียหายและตายลงเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora spp.) และปะการังผิวยู่ยี่ (Porites rus)

สำหรับสถานภาพปะการังมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เนื่องจากมีปะการังตายเพิ่มขึ้น การฟื้นฟูแนวปะการังจึงอาจมีความจำเป็นและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น พร้อมกับติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม การฟอกขาวของปะการังที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น เราทุกคนควรตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีจิตสำนึกที่ดีต่อระบบนิเวศทางทะเล และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดยเริ่มต้นที่ตัวเราและส่งต่อถึงคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว ไม่ทิ้งขยะ น้ำเสีย หรือสิ่งปฏิกูลลงในทะเล เพื่อลดปัจจัยทำให้เกิดการฟอกขาว และลดมลภาวะทางทะเลได้อีกด้วย “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *