อธิบดี’กรมทะเล ร่วมเสวนาและประกาศความร่วมมือเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก


วันที่ 23 สิงหาคม 2567 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมงานแถลงผลงาน PPP Plastics “Building Ecosystem for Plastic Circularity” โดยมีดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นประธาน พร้อมกันนี้ นางภรณี กองอมรภิญโญ PPP Plastics Communication Taskforce Leader นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายฐิติธัม พงศ์พนางาม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุวรรณ นันทศรุต ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิ่งแวดล้อม และนางสุรีย์ สตภูมินทร์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนบริษัทสามาชิก PPP Plastics หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานแถลงผลงานดังกล่าว ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ดร.ปิ่นสักก์ อธิบดี ทช. กล่าวว่า วันนี้ตนได้มีโอกาสขึ้นเวทีเพื่อร่วมเสวนาในหัวข้อ “การเตรียมพร้อมของประเทศในการเข้าร่วมข้อตกลงระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก” ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ถึงการสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะพลาสติกโดยตรง ซึ่งขยะเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในท้องของพวกเขาจนไปอุดตัน ทำให้ว่ายน้ำได้ลำบาก หรือเข้าไปอยู่ในท้องจนทำให้ป่วย เกยตื้น และตายในที่สุด ดังนั้น กรมฯ จึงได้เตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นตัวชี้วัดในการกำหนดทิศทางให้การจัดการขยะพลาสติกเกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้การแก้ปัญหาพลาสติกประสบความสำเร็จและยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ได้ร่วมประกาศความร่วมมือกับองค์กรสมาชิกและองค์กรภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน เพื่อแสดงออกถึงพลังความร่วมมือในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย และร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุดท้ายนี้ ต้องขอความร่วมมือไปยังประชาชน ชุมชน ผู้ประกอบการร้านค้า โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม ให้ช่วยกันบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี เริ่มต้นจากการคัดแยกขยะที่ต้นทาง โดยการจัดการขยะตามหลัก 3Rs ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และลดการใช้ขยะพลาสติก อีกทั้งไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง เพราะขยะเหล่านี้อาจกลายเป็นมลพิษไหลลงสู่ทะเล สร้างความเสียหายที่รุนแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมไปถึงสัตว์น้ำ หรือสัตว์ทะเลหายากอีกด้วย


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *