“อพท. โชว์ผลงานการพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านร่วมกับภาคีเครือข่าย ในงาน DASTA NAN Sustainable Tourism Journey 2024”


อพท. จัดงาน “DASTA NAN Sustainable Tourism Journey 2024” นำเสนอผลงานและเรื่องราวของ 12 ปี แห่งการเดินทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า “อพท. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ทำหน้าที่บริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเชิงบูรณาการ เป็นหน่วยกลางในการประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการการพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้มีศักยภาพเพื่อส่งมอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) เป็นเป็นแนวทางในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ อพท. มีพื้นที่พิเศษแล้ว 9 พื้นที่ ซึ่งรวมถึงพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน โดยตลอดเวลากว่า 12 ปี ที่ผ่านมา อพท. ได้ทำหน้าที่ในการประสานงาน ประสานการใช้อำนาจและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ เมืองเก่าน่าน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนแบบองค์รวม (Holistic Development) กล่าวคือ ทำทุกเรื่องเฉพาะในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น โดยยึดหลักการความยั่งยืนและสมดุลใน 3 มิติ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ อพท. ยังร่วมขับเคลื่อนและยกระดับองค์ประกอบตามเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) พัฒนาเมืองน่านให้มีความพร้อมในการเสนอชื่อเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ในปี 2568 นี้ ซึ่งหากเมืองได้รับการยอมรับในระดับเวทีสากล จะเป็นประโยชน์ต่อเมืองน่านและสอดคล้องกับหัวใจการพัฒนาของ อพท. และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และยังเป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี รวมทั้งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเมืองและพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ น่าเที่ยวและยังสามารถแก้ปัญหาของสังคมได้ อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การศึกษาและสิ่งแวดล้อม

** ตอกย้ำความสำเร็จของการพัฒนาผ่านงาน “DASTA NAN Sustainable Tourism Journey 2024 ”

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า อพท. ได้จัดงาน “DASTA NAN Sustainable Tourism Journey 2024” ในวันนี้ขึ้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจบทบาทภารกิจของ อพท. และนำเสนอผลงานที่สำคัญตลอด 12 ปีที่ผ่านมา และเป็นไปตามเป้าหมายในการเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อส่งมอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้เกิดความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล คือ เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) จนทำให้พื้นที่ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน (Nan Old City) ซึ่งเป็นพื้นที่ของเทศบาลเมืองน่าน ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกและได้รับรางวัล Green Destinations Top 100 Stories ถึง 3 ครั้ง และเป็นเมืองเดียวในโลกที่ได้รับรางวัลนี้ติดต่อกัน 3 ครั้ง ตอกย้ำความสำเร็จจากความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืน และกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก ภายใต้แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” และกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน (DNYC) ได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2020 จากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Pacific Asia Travel Association – PATA) นับเป็นความภาคภูมิใจที่ผลของการพัฒนาตามแนวทางของ อพท. จนได้ส่งมอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระดับสากล ซึ่งได้นำเสนอผ่านนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ พิธีส่งมอบตราสัญลักษณ์รางวัลสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก มอบโล่รางวัลวัดท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Temple)

** ความเข้มแข็งและมุ่งมั่นของพื้นที่ คือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวเสริมว่า “ขอขอบคุณ อพท. และภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชน ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการและร่วมขับเคลื่อนจังหวัดน่านอย่างมุ่งมั่น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดน่าน จะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างเป็นรูปธรรม สามารถเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆ ต่อไปได้ โดยในปี  2568 นี้ จังหวัดน่านมีความพร้อมที่จะนำแนวทางการพัฒนาของยูเนสโกในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์มาเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองน่านและพร้อมที่จะยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก โดยได้ให้ความสำคัญกับปราชญ์ ศิลปิน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รักษามรดกทางภูมิปัญญาของเมือง ผู้ที่จะส่งต่อองค์ความรู้ทาง ภูมิปัญญาถ่ายถอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงสร้างสรรค์ พื้นที่นำเสนอผลงานด้านงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน ส่งเสริมให้ศิลปิน ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานและนำเสนอขายสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่านและหัตถกรรมพื้นบ้าน

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากผลสำเร็จในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน โดยความร่วมมืออย่างดียิ่งของภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทีมท่องเที่ยวน่าน ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประกอบกับชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วม และจิตสำนึกในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และได้จัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ที่จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการท่องเที่ยว ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรางวัลด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน มีการจัดการด้านความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวตามเกณฑ์ GSTC ภายใต้แนวคิด “น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต” ซึ่งในการพัฒนาทุกด้านที่กล่าวมาล้วนเป็นรากฐานสำคัญให้เมืองน่านมีความพร้อมเข้าชิงเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ในปี 2568 ต่อไป”


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *