ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ GreenTech Accelerator (GTA) ประจำปี 2567 ดำเนินการโดยยูโอบี ฟินแล็บ (UOB FinLab) ซึ่งนับเป็นก้าวย่างสำคัญในการรับมือกับปัญหา ท้าทายที่เร่งด่วนเกี่ยวกับความยั่งยืน โครงการ GTA มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทที่ทำธุรกิจ กรีนเทค (GreenTech) สำหรับการนำร่องนวัตกรรมโซลูชันที่จะสร้างผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
บริษัทกรีนเทค 12 แห่งของไทยเป็นหนึ่งใน 33 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายสำหรับการเข้าร่วมโครงการGTA โดยคัดเลือกจากบริษัทกรีนเทค 350 รายที่สมัครเข้าร่วมจากทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทที่ได้รับคัดเลือกจะเข้าร่วมโครงการระดับภูมิภาคเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งออกแบบเพื่อส่งเสริมโอกาสในการเติบโต การพลิกโฉมธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายด้านความยั่งยืน
ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่หาที่ไหนไม่ได้ รวมถึงการฝึกอบรมในหลักสูตรมาสเตอร์คลาสโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ 30 ท่านจากสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงประโยชน์มากมายจากเครือข่ายของยูโอบี ฟินแล็บ อาทิ องค์ความรู้และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมไปถึงผู้นำด้านอุตสาหกรรม 25,000 ราย จากภาคธุรกิจ ภาครัฐ เอสเอ็มอี และซัพพลายเออร์ด้านเทคโนโลยี
ด้วยการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเร่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืน ยูโอบีจะมอบเงินทุนสนับสนุนสูงสุด 2.7 ล้านบาท แก่บริษัทกรีนเทคที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อนำร่องนวัตกรรมโซลูชันที่เหมาะสมและสามารถนำไปใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ รับมือกับปัญหาท้าทายด้านความยั่งยืน
ยูโอบี ฟินแล็บ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรพันธมิตรทั่วภูมิภาคอาเซียนเพื่อระบุปัญหาท้าทายด้านความยั่งยืน หลักที่บริษัทต่างๆ และภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญ บริษัทกรีนเทคที่ได้รับการคัดเลือกจะร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรเหล่านี้ และยูโอบี ฟินแล็บ เพื่อพัฒนานวัตกรรมโซลูชันสำหรับการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมุ่งเน้นแง่มุมสำคัญๆ อาทิ การประหยัดพลังงาน เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ การจัดการและการรายงานคาร์บอน อาหารและการเกษตร และการวางผังเมือง
โครงการ GTA เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่สิงคโปร์ และประสบความสำเร็จอย่างมาก การดำเนินโครงการในปีแรกมีผู้สมัครมากกว่า 150 ราย ก่อเกิดโครงการนำร่องและความร่วมมือ 8 โครงการ และสร้างการเชื่อมต่อทางธุรกิจที่เห็นผลจริงกว่า 160 รายการ
หนึ่งในความสำเร็จที่โดดเด่นได้แก่ ไฮโดรนีโอ (HydroNeo) หนึ่งในบริษัทกรีนเทคของไทยที่เข้าร่วมโครงการ GTA ในปี 2565 โดยสามารถสร้างความก้าวหน้าอย่างมากในการปรับปรุงความยั่งยืนของภาคธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยผ่านระบบการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ ด้วยโครงการนำร่องของไฮโดรนีโอ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับประโยขน์จากการปรับปรุงในด้านต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ปริมาณผลผลิต การประหยัดพลังงาน และความสามารถในการทำกำไร ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวทำหน้าที่จัดการดูแลบ่อเพาะเลี้ยง 150 บ่อ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของโซลูชันกรีนเทค
นายบัลลังก์ ว่องธวัชชัย Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากสำหรับการเปิดตัวโครงการ GreenTech Accelerator ในประเทศไทย เนื่องจากโครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของเราในการสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมและส่งเสริมความยั่งยืน โครงการ GTA มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพยกระดับเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเราเชื่อมโยงบริษัทเหล่านี้เข้ากับโอกาสทางธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญจากยูโอบี ฟินแล็บ และพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมอบทรัพยากรและความช่วยเหลือที่จำเป็นเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ เป้าหมายหลักของเราคือการช่วยให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาโซลูชันที่มีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหาท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญและสนับสนุนการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับประเทศไทยและโลกของเรา”
นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหนึ่งในผู้ฝึกสอนภายใต้โครงการ GTA ของปีนี้ กล่าวว่า “ที่ สวทช. หนึ่งในเป้าหมายหลักของเราคือการช่วยให้บริษัทกรีนเทคนำเอาไอเดียที่มีอยู่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สามารถเข้าสู่ตลาดและตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง ดิฉันพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับยูโอบีในฐานะผู้ฝึกสอนเพื่อให้คำแนะนำและดูแลบริษัทเหล่านี้ให้สามารถเติบโตอย่างมั่นคงและนำการเปลี่ยนแปลงที่มีประโยชน์มาสู่ธุรกิจของตนเองและของลูกค้า ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นว่าแต่ละบริษัทจะปรับใช้แนวทางที่แปลกใหม่เพื่อคิดค้นโซลูชันที่สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไร”
นางสาวมยุรี อรุณวรานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท เก็บ สะอาด จำกัด (GEPP SA-ARD) กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้เข้าร่วมโครงการ GTA ของยูโอบี ฟินแล็บ ในปีนี้เรามุ่งหวังที่จะนำเสนอโซลูชันเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจรของเราผ่านทางโครงการนี้ พร้อมทั้งรับทราบข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์จากการเข้าร่วมฝึกอบรมเกี่ยวกับความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน และสำรวจความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ๆ”
ด้วยตระหนักถึงผลกระทบเชิงบวกที่สำคัญของโครงการ โครงการ GreenTech Accelerator โดย ยูโอบี ฟินแล็บ ประเทศไทย ยังได้รับการยกย่องจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยได้รับรางวัล Prime Minister Award: Innovation for Sustainability 2024 ที่งาน Startup x Innovation Thailand Expo 2024 (SITE2024) รางวัลนี้ยกย่องความพยายามขององค์กรพันธมิตรและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการพัฒนาโครงการริเริ่มเพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ก้าวเดินไปข้างหน้าบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน
บริษัทไทย 12 แห่งที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Greentech Accelerator Program ในปี 2567 มีดังนี้:
ชื่อบริษัท /กรีนเทค | รายละเอียด | หมวดหมู่ |
Altotech | เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอาคารโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆภายในอาคาร ด้วยเทคโนโลยี AI, IoT และ Cloud Computing | การประหยัดพลังงาน |
Bariflo Labs | พัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการที่ยั่งยืนสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้วยการแก้ไขปัญหาที่สำคัญเกี่ยวกับน้ำและโรคต่างๆ | อาหารและการเกษตร |
Carbon Wize | นำเสนอแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการคาร์บอนฟุต พริ้นท์ได้ง่าย ด้วยระบบการคำนวณและจัดทำรายงานอัตโนมัติ | การจัดการและการรายงานคาร์บอน |
Cero | แพลตฟอร์มสำหรับการคำนวณและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้างกระเป๋าสตางค์คาร์บอน (carbon wallet) ส่วนบุคคลและส่งเสริมกิจกรรมสีเขียว นวัตกรรมของเราจะช่วยให้บุคคลและธุรกิจสามารถจัดการและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ | การจัดการและการรายงานคาร์บอน |
Chosen Digital | แพลตฟอร์มสำหรับการจัดการสถานีชาร์จ EV เพื่อผนวกรวมการชำระเงิน การตอบสนองความต้องการ การบูรณาการรวบรวมบริหารโหลด และโรงไฟฟ้าเสมือน | การประหยัดพลังงาน |
GEPP SA-ARD Co.,Ltd | นำเสนอโซลูชันเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร เช่น การปรับปรุงการคัดแยกขยะ เพื่อลดพื้นที่ฝังกลบและสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน | เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ |
Inno Green Tech | นำเสนอระบบบำบัดน้ำเสียที่ยั่งยืนและประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้า ลดการเติมสารเคมี ลดการจัดการตะกอน และลดการซ่อมบำรุง | เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ |
Nano Coating Tech | นำเสนอการเคลือบนาโนขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์ด้วยการกันฝุ่นและน้ำ ลดการบำรุงรักษา และเพิ่มการผลิตพลังงาน | การประหยัดพลังงาน |
Nano Onions | นำเสนอวัสดุทางเลือก ย่อยสลายได้จากสาหร่ายผักกาดทะเล โดยมีฟังก์ชั่นอเนกประสงค์สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ แทนพลาสติกใช้ครั้งเดียว ซึ่งปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดมลพิษขยะพลาสติก | อาหารและการเกษตร |
PAPAPAPER | ผลิตวัสดุคาร์บอนต่ำจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น เปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อันเป็นต้นเหตุของการเผา และฝุ่น PM2.5 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ | เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ |
Peel Lab | นวัตกรรมวัสดุศาสตร์แปรรูปขยะเกษตร นำเส้นใยธรรมชาติจากใบสับปะรด มาเป็นแผ่นหนังไบโอสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ทดแทนหนังสัตว์ ลดมลพิษจากการเผาทิ้งขยะเกษตรกรรม | เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ |
Wongphai | ผลิต Biochar จากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อเพิ่มคุณภาพดิน ลดการใช้น้ำ และสนับสนุนการดูดซับคาร์บอน (Carbon Removal) | เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการขยะ |
หากต้องการเรียนรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ สามารถดูได้ที่ https://thefinlab.com/programmes/the-greentech-accelerator/