บพท. ส่ง 7 นวัตกรรมพร้อมใช้ แข่งขันเวทีนานาชาติที่เกาหลีและใต้หวัน


Seoul International Invention Fair (SIFF) ที่เกาหลีใต้ และ Kaohsiung International Invention and Design EXPO (KIDE) ที่ไต้หวัน เป็นเวทีประกวดผลงานนวัตกรรมระดับโลก โดยงาน SIFF 2024 และ KIDE 2024 ที่จะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคมนี้   นับเป็นครั้งแรกที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) คัดเลือกผลงานนวัตกรรมไทยเพื่อเป็นตัวแทนประเทศ เข้าร่วมแข่งขันในสองเวทีนานาชาตินี้ ซึ่งผลงานเหล่านี้ผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมด้านนวัตกรรมของไทยในระดับสากล

สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกงานวิจัยของ บพท. นั้น นอกจากจะต้องเป็นงานวิจัยด้าน Appropriate Technology หรือ เทคโนโลยีที่เหมาะสม ที่มีความเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีมาตรฐาน รวมถึงเกิดการใช้งานจริงในกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังต้องสามารถสร้างผลกระทบระดับสูงในพื้นที่ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการตนเอง และสร้างพื้นที่การเรียนเรียนรู้นวัตกรรมชุมชน รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนแห่งนั้นได้อย่างยั่งยืน  โดยคัดเลือกจากงานวิจัยที่ได้รางวัลจากเวทีประกวดชุมชนนวัตกรรม ในปี 2565 และ 2567

สำหรับโดยผลงานที่ที่ชนะเลิศจากเวทีของ บพท.  และผ่านการคัดเลือกโดย วช. เพื่อเข้าร่วมงาน SIFF 2024 และ KIDE 2024 มีจำนวน 7 เรื่อง ประกอบด้วย 1. “นวัตกรรมการจัดการเพาะเลี้ยงชันโรง” (มหาวิทยาลัยหาดใหญ่)  2. “การใช้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและจุลินทรีย์ในอาหารโคเนื้อ” (มหาวิทยาลัยนครพนม)  3.“ชุมชนนวัตกรรมวัฒนธรรมผ้าหม้อห้อมลวดลายอัตลักษณ์เวียงโกศัย” (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)  4. “นวัตกรรมเส้นไหม” (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) 5. “บ้านปลามีชีวิต” (มหาวิทยาลัยทักษิณ) 6.“เครื่องเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิจากโอ่งมังกร” (มหาวิทยาลัยอุตรดิตถ์)  และ  7.“แม่อิงชิโบริ ศิลปะ งานคราฟ สีย้อมผ้าธรรมชาติ” (มหาวิทยาลัยพะเยา)

“งานวิจัย 4 เรื่องแรก มีจุดเด่นที่เป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาท้องถิ่น การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และการสร้างความยั่งยืนในเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่นั้น ๆ   บพท. ส่งเข้าประกวดในงาน SIFF 2044 ที่เกาหลี เพราะมีผู้ชมหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในภูมิภาคและสากล เพื่อให้เกิดการทำธุรกิจและการสร้างเครือข่าย   ส่วนงาน KIDE 2024 ที่ไต้หวัน จะเป็นงานที่เน้นแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมงาน ที่มีทั้งนักประดิษฐ์ นักออกแบบ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม จึงเหมาะกับเหมาะกับงานนวัตกรรม/เทคโนโลยีพร้อมใช้ 3 เรื่องหลัง ที่เป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาระดับพื้นที่ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมชุมชน การสร้างรายได้ให้กับชุมชน” ดร.กิตติ สัจจวัฒนา  ผู้อำนวยการ บพท. ให้ข้อมูล

ในส่วนประโยชน์จากการเข้าร่วมการประกวดทั้ง 2 งานนี้นั้น ผอ.บพท. กล่าวว่าจะเป็นการยกระดับศักยภาพของนักวิจัยที่ไปร่วมงาน ได้เปิดประสบการณ์และเห็นนวัตกรรมของระดับนานาชาติ ได้ พบปะแลกเปลี่ยนกับนักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งอาจนำไปสู่การทำงานร่วมกันในอนาคต นำไปสู่การยอมรับในระดับนานาชาติ ที่จะช่วยกระตุ้นเกิดการสนับสนุนการการนำผลงานไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

“ที่สำคัญคือ การเข้าร่วมงานนี้ คือการแสดงให้องค์กรทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวคิดการจัดการเชิงพื้นที่ที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาที่หลากหลายในระดับสากลขยายความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ ซึ่ง บพท. มุ่งหวังที่จะใช้เวทีนี้เป็นช่องทางขยายเครือข่ายความร่วมมือทั้งด้านนวัตกรรมและการพัฒนาเชิงพื้นที่กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และทรัพยากรในระยะต่อไป” ดร.กิตติ สรุป


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *