อพท. เดินหน้าขับเคลื่อนเชียงรายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ และปักหมุดสู่การเป็นเครือข่าย อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก


อพท. ปักหมุดปี 2568 หนุนเสริมจังหวัดเชียงรายเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก พร้อมเตรียมยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวของพื้นที่พิเศษฯ เชียงรายให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และผลักดันแหล่งธรณีวิทยาจังหวัดเชียงรายสู่การเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีโลก (Global Geopark)

นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี
ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.

นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) นายสรวงศ์ เทียนทอง ทำหน้าที่ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น โดย อพท. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานต้นน้ำในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงประสานหน่วยงานทุกภาคส่วนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน มีคุณภาพเป็นเป้าหมายในการมาเยือนของนักท่องเที่ยว  โดยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) โดยสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก รวมไปถึงการขับเคลื่อนเมืองไปสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เชียงราย ที่ อพท. ได้ไปร่วมศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของเมืองมาตั้งแต่ปี 2563 ร่วมกับจังหวัดเชียงรายและทุกหน่วยงานภาคีเครือข่ายจังหวัด ท้องถิ่นและชุมชน จนสามารถผลักดันจังหวัดเชียงรายให้ได้รับการรับรองจากยูเนสโก ให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UCCN ด้านการออกแบบ (City of Design) ในปี 2566

** เดินหน้าร่วมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เชียงรายตามแนวทางของสมาชิก UCCN

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 อพท. ยังเดินหน้าร่วมขับเคลื่อนจังหวัดเชียงราย ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโกอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกับจังหวัดเชียงรายในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยว ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การรับมือและจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติระหว่างเมืองสร้างสรรค์ ตลอดจนการพัฒนาและยกระดับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนเป้าหมายให้มีมาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเมืองเชียงรายตามแนวทางของการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก Membership Monitoring Guidelines ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ต้องดำเนินการในอนาคต ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีเป้าหมายจะดำเนินโครงการต่างๆ ตามพันธะสัญญาในการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์  ที่สำคัญ คือ การออกแบบหลักสูตรเมืองสร้างสรรค์เชียงรายสำหรับสอนในโรงเรียนท้องถิ่น การจัดตั้งศูนย์การออกแบบเพื่อความยั่งยืน การจัดงานประกวดการออกแบบดอกไม้ระดับนานาชาติ งานแฟชั่นชาติพันธุ์เชียงราย การออกแบบเมืองเชียงรายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และงานสร้างสรรค์ (Workshop) ศิลปะชาติพันธุ์ และจากผลสำเร็จในการเข้าเป็นสมาชิก UCCN ของจังหวัดเชียงราย ด้วยแนวคิดการออกแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความประทับใจแก่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโกและเรียกร้องให้เมืองเชียงรายรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุม The UNESCO City of Design Subnetwork Meeting 2027 และเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ยกย่องกระบวนการขับเคลื่อนเมืองเชียงรายและความพยายามให้สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ยอมรับให้เชียงรายเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เป็นตัวอย่างแก่เมืองต่างๆ ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองเสร้างสรรค์ของ UNESCO ในอนาคตอีกด้วย

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ
รองผู้อำนวย อพท.

** ปักหมุด อุทยานธรณีโลกของ UNESCO

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเสริมว่า นอกจากการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์แล้ว อพท. ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และคณะกรรมการอำนวยการอุทยานธรณีเชียงราย ขับเคลื่อนการดำเนินงานของอุทยานธรณีเชียงรายมุ่งเป้าสู่การเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลกของยูเนสโก ตามที่ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี 2563 โดยใช้แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือในการยกระดับอุทยานธรณีเชียงรายสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เป็นพื้นที่สร้างโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรณี อาทิ น้ำพุร้อน ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่นและการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีคุณค่า

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อพท. ได้นำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก GSTC ไปสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาจนเกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีเชียงรายแล้ว 3 เส้นทาง ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย และอำเภอแม่จัน ได้แก่ เส้นทางที่ 1 “รอยเลื่อนอดีตโยนกนคร” เส้นทางที่ 2 เสน่ห์แห่งตำนาน “ถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน” และเส้นทางที่ 3 เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงผจญภัย “อัศจรรย์ธรรมชาติ ธรณีวิทยาเชียงราย” ซึ่งในปี 2568 อพท. วางเป้าหมายการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐานตามเกณฑ์ GSTC รวมถึงสร้างการรับรู้และสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุทยานธรณีเชียงรายสู่การเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ และการเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีโลก (Global Geopark) ของยูเนสโกในลำดับถัดไป ทั้งนี้ อพท. นำโครงการพัฒนาและการบริหารจัดการธรณีวิทยา (Geopark) ของจังหวัดเชียงราย เข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงราย ระยะ 5 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกด้วย

** การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านผาหมี ต้นแบบตอบโจทย์เมืองสร้างสรรค์และแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางอุทยานธรณี

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มว่า ชุมชนบ้านผาหมี เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางอุทยานธรณีตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอ  แม่สาย ซึ่ง อพท. เข้าไปพัฒนาตั้งแต่ปี 2566 โดยมีเป้าหมายยกระดับการให้บริการและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์อาข่า ให้สอดคล้องกับการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโกที่มุ่งเน้นให้ชุมชนท้องถิ่นของเมืองสร้างสรรค์ได้เข้ามามีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์

ด้วยความเป็นชาติพันธุ์อาข่า ทำให้ชาวบ้านดอยผาหมี นำวิถีชีวิตของคนอาข่ามานำเสนอเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การดริบกาแฟ โดยให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ กระบวนการปลูก เก็บ ตาก และคั่ว จนกลายมาเป็นกาแฟดอย  ผาหมีที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ และนำเสนอเมนูสุขภาพอาหารอาข่าที่หารับประทานได้ยาก มีรสชาติเฉพาะ ปรุงด้วยวัตถุดิบตามธรรมชาติ และยังมี Cooking class สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากลงมือทำอาหารด้วยตัวเอง การเรียนรู้ภาษาอาข่า การปั่นด้ายด้วยมือแบบโบราญ และการปักผ้าแบบอาข่า เป็นต้น แต่ที่พลาดไม่ได้ คือ การแสดงของชาติพันธุ์อาข่าที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น นอกจากนั้น ชุมชนบ้านผาหมีเป็นอีกหนึ่งชุมชนท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อพท.เชียงราย จึงได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อฟูแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จากเหตุการอุทกภัย ตามนโยบายของ รมว.กก. โดยวิสาหกิจท่องเที่ยวบ้านดอยผาหมี ร่วมกับ อพท.เชียงราย และเทศบาลตำบลเวียงพางคำ ออกแบบเป็นกิจกรรม “Dinner Akha: ท้าลมหนาว ที่ดอยผาหมี” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่  27 ธันวาคม 2567 ณ ลานวัฒนธรรมชุมชนบ้านผาหมี บูซอโฮมสเตย์ ชุมชนบ้านผาหมี รายได้จากการจัดกิจกรรมจะนำไปฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของชุมชนให้กลับมาสวยงาม และช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทัยภัยและดินโคลนถล่ม

** ดัน ดอยตุง สู่การรับรองมาตรฐาน Green Destination

จากการหารือร่วมกันระหว่างผู้อำนวยการ อพท. กับ ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมป์ อพท. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา อพท. ดำเนินการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง และเตรียมการจะประเมินสถานะความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวดอยตุงตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก เพื่อเตรียมความพร้อมในการสมัครเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน Green Destination ต่อไป ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีความยินดีที่จะร่วมมือกับ อพท. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดอยตุง สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีสถานะความยั่งยืนในระดับสากล ทั้งในมิติของการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) การยกระดับขีดความสามารถในบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามเกณฑ์ (Sustainable Tourism Management Standard: STMS) และการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวดอยตุงตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) โดย อพท. จะร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง อพท. คาดหวังว่าแหล่งท่องเที่ยวดอยตุง จะมีความพร้อมเข้ารับการรับรองมาตรฐาน Green Destination ในปี 2568 และจะเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *