โดย : ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
“อพท.มีหลักในการทำงานมุ่งเน้นกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมและการร่วมเป็นเจ้าของหรือ Co-Creation & Co-Own คือ การร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์และร่วมเป็นเจ้าของ และ อพท. ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ คือ “เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศในการบูรณาการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อส่งมอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เผยถึงแนวทางในการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนที่ผ่านมาของ อพท.
มุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ดร.ชูวิทย์ กล่าวว่า อพท.เดินหน้าพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้เกิดความสมดุล ใน 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นใช้การท่องเที่ยวมาสร้างความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ มิติสังคม ส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การค้นหาปราชญ์ชาวบ้าน สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และมิติสิ่งแวดล้อม พัฒนาและบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ป้องกัน บำบัด ฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ อพท.นำหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลและเป็นหลักวิชาการที่สามารถวัดได้ มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาและยกระดับพื้นที่/แหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความเชื่อมั่นและเพิ่มศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ประกอบไปด้วย
1.การใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็น Green Destinations Top 100 Stories ซึ่งจัดโดยองค์กร Green Destinations เป็นองค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนชั้นนำจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และองค์กรพันธมิตร ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษของ อพท. ได้รับการประกาศแล้ว เช่น เชียงคาน จังหวัดเลย เมืองเก่าสุโขทัย เมืองเก่าน่าน จังหวัดน่าน และเกาะหมาก จังหวัดตราด เป็นต้น
2.การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษไปสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ UNESCO Creative Cities Network : UCCN โดยมีเป็นหมายให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสาน โดยมีเป้าหมายเพื่อการสร้างความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติ สร้างวัฒนธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเกิดผลต่อการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนด้วย
ซึ่ง อพท. ได้ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนเมืองไปสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว 4 เมือง คือ สุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) ได้รับการประกาศเมื่อปี 2562 เพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) ในปี 2564 และล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ยูเนสโกได้ประกาศให้ จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) และจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี (City of Music)
3. การใช้มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) ที่ อพท. พัฒนาขึ้น และได้รับการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก โดยใช้ไปส่งเสริมให้หน่วยงานเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐาน และ อพท. ได้มอบประกาศนียบัตรให้องค์กรที่ดำเนินการได้ตามมาตรฐาน STMS ถึง 96 องค์กร (ในปี 2559 – 2567)
ขณะนี้ อพท. มีชุมชนต้นแบบกว่า 80 ชุมชน ที่ อพท. ได้พัฒนาและมีศักยภาพที่จะส่งต่อไปด้านการตลาดคุณภาพสูงได้ รวมถึงเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism Toolkit by DASTA) ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน สร้างสมดุลทางสังคมระหว่างประชาชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว
โครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง แม่เหล็กสำคัญเชื่อมโยงการท่องเที่ยวอีสาน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย และเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฯ เป็นไปตามมติ ครม. ดังกล่าว เดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ประธานกรรมการ อพท. นำทีมผู้บริหาร อพท. ลงสำรวจพื้นที่และประชุมหารือร่วมกับจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน จากนั้น อพท. ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานในระดับนโยบาย ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการฯ ซึ่งเห็นชอบร่วมกัน ให้ดำเนินการสำรวจออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามขั้นตอนของกฎหมาย
อพท. ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง โดยมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบให้น้อยที่สุดตามแนวทางเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ซึ่งโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย มีการศึกษามาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2539 การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นนั้น จากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ประโยชน์ของการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มีดังนี้
มิติของศักยภาพ กระเช้าลอยฟ้าทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนภูกระดึงมากขึ้นและการท่องเที่ยวเป็นไปได้ทุกฤดูกาล ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะขยายตัวขึ้น เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชนและภูมิภาค เพิ่มศักยภาพในการจัดการปัญหาขยะของภูกระดึงโดยการลําเลียงขยะลงมา กําจัดภายนอกเขตอุทยาน ฯ เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันการบุกรุกททำลายทรัพยากรธรรมชาติบนภูกระดึง ขณะที่ข้อดีถือเป็นการอํานวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกวัย เป็นประโยชน์ในกรณีฉุกเฉิน อุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยกะทันหัน สามารถลําเลียงผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ก่อให้เกิดการกระจายรายได้และการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน อพท.จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องของการศึกษาและออกแบบโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้ภูกระดึงเป็นแม่เหล็กใหม่ของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อการเรียนรู้แห่งใหม่ในระดับอาเซียน ที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดเลย เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอีสาน และดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าไทย
แผนงานต่อจากนี้ของ อพท.
สำหรับในปีงบประมาณ 2568 อพท. ยังคงมุ่งมั่นและมีเป้าหมายการดำเนินงานตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งองค์กร โดยมุ่งเน้นการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยตั้งเป้าในการสานต่อโครงการและทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษจำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง พัทยา สุโขทัย เลย น่าน และเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากนี้ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เชียงราย และคุ้งบางกะเจ้า เสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) พิจารณา รวมไปถึงการขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามเป้าหมาย (Big Rock) เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์ความเป็นเลิศและแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ อพท. หมู่เกาะช้าง เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน โดย อพท. ยังคงยึดมั่นในเจตนารมย์การทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์องค์กรในการเป็น “องค์กรแห่งความเป็นเลิศในการบูรณาการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อส่งมอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ต่อไป