เปิดแผนงานปี 68 มุ่งส่งเสริมการค้าสู่ความความสำเร็จและความยั่งยืนกับ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์

• การส่งออกของไทยปี 2567 มีมูลค่า 300,529.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10.5 ล้านล้านบาท) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และขยายตัว 5.4% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1 – 2% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล การขยายตัวของความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรือมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวก ส่งเสริม และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ

• แนวโน้มการส่งออกของไทยปี 2568 คาดว่าจะมีทิศทางขยายตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เข้มข้นขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาโลกร้อนที่ยังคงอยู่ ทั้งนี้ ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ตั้งเป้าการส่งออก (Working Target) ไว้ที่การขยายตัว 2.0 – 3.0% (ค่ากลาง 2.5%) มูลค่าประมาณ 305,315 – 308,308 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่ากลาง 306,811 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

• พณ. ให้ความสำคัญกับการผลักดันการส่งออกสินค้า ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เน้นทำงานเชิงรุก จับมือทำงานร่วมกับภาคเอกชน ใช้กลไกพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ทั่วโลก เร่งหาโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนายกระดับสินค้าโดยการสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและธุรกิจบริการไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมสินค้า Thailand Next Level ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าสูง เป็นสินค้าที่มีจุดขายมีเรื่องราว Story มีความพิเศษกว่าสินค้าทั่วไป เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ทุเรียนจันทบุรี เป็นต้น

• เน้นขยายโอกาสทางการตลาดและผลักดันการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า เพื่อเชื่อมโยงสินค้าไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยรักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่าจากสถานการณ์ในต่างประเทศที่เคยเป็นอุปสรรค และเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้าไทย ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ Megatrends และเศรษฐกิจใหม่ เน้นสินค้าสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนสินค้าและธุรกิจที่สนับสนุนความยั่งยืน เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมสินค้ายานยนต์สมัยใหม่ (รถยนต์ไฟฟ้าและอะไหล่ยานยนต์) อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร

• พณ. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทย มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือเหมาะสมตามลักษณะการดำเนินธุรกิจของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสร้างโอกาสทางการตลาด เพื่อสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบ Onsite และ Online โดยมีโครงการหรือกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการ อาทิ

o เพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการผู้สูงอายุ สุขภาพและความงาม (Wellness) พัฒนาศักยภาพด้านการตลาดยุคดิจิทัล และปรับรูปแบบธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา

o สร้างศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีด้วยการให้ความรู้ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลองค์กรด้วยโปรแกรม MS Power BI การใช้งาน Generative AI ในธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์

o พัฒนาทักษะเครือข่าย MOC Biz Club ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กในพื้นที่/ต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยการพัฒนาทักษะในการประกอบธุรกิจ การใช้เทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว

o พัฒนาศูนย์กลางการเรียนรู้ออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ DBD Academy ให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้ได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา ในรูปแบบ E-learning โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย 4 หลักสูตร 40 วิชา โดยเฉพาะหลักสูตรการประกอบธุรกิจและเทรนด์การค้าโลก เช่น วิชา Carbon Credit โอกาสธุรกิจไทยในยุคเศรษฐกิจสีเขียว วิชา ESG สร้างมูลค่าสู่ธุรกิจยั่งยืน เป็นต้น

o โครงการสร้างเวทีจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับนักวิจัยด้วยนวัตกรรมที่ยั่งยืนสู่สากล ปี 2568 เชื่อมโยงผู้ประกอบการส่งออกกับนักวิจัยให้เกิดการพัฒนา ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากงานวิจัย และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสินค้าและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดต่างประเทศ

o โครงการพัฒนาสินค้าออกแบบจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล ปี 2568 (DEsign from Waste of Agriculture and Industry : DEWA & DEWI) พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจากของเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมให้เป็นสินค้าเชิงสร้างสรรค์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ได้จริง และสร้างผู้ประกอบการที่มีการดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

o โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน ปี 2568 (Carbon Neutrality 2025: Carbon Footprint Focus) ยกระดับผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทย และสร้างต้นแบบผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการประกอบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ

• เน้นขยายโอกาสทางการทางการตลาดให้ผู้ประกอบการ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สร้างทักษะการเจรจาธุรกิจ รวมถึงสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ โดยมีการจัดกิจกรรม อาทิ

o เสริมสร้างโอกาสการตลาดธุรกิจ Wellness สู่ความยั่งยืน ภายใต้กิจกรรม “DBD WELLNESS 2025” ภายใต้แนวคิด “Empowering Growth, Sustaining Your Business” เพื่อยกระดับศักยภาพทางการตลาดแก่ธุรกิจ Wellness ได้แก่ ธุรกิจสปาและนวดเพื่อสุขภาพ ธุรกิจบริการความงาม ธุรกิจบริการทางการแพทย์ ธุรกิจบริการผู้สูงอายุ และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

o ส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ในงาน OTOP City OTOP Midyear และ OTOP ศิลปาชีพประทีปไทย สร้างช่องทาง/พื้นที่จำหน่ายและโอกาสการตลาดให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ พัฒนาศักยภาพการตลาดธุรกิจชุมชน (Smart Local) ที่จัดให้มีช่องทางการจำหน่ายออกบูธขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

o พัฒนาชุมชนออนไลน์ต้นแบบ Digital Village BCG ชุมชนออนไลน์นวัตกรรมรักษ์โลก สร้างชุมชนทั่วประเทศสู่การค้าออนไลน์ โดยให้ความรู้ด้านการค้าออนไลน์ และ BCG Model รวมถึงแนวคิด ESG เพื่อสร้างความยั่งยืน มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายสินค้านวัตกรรมรักษ์โลกที่สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม

o จัดงานแสดงสินค้า และพาผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศ อาทิ THAIFEX-ANUGA ASIA 2025 งานแสดงสินค้า THAIFEX-HOREC ASIA 2025 และงานแสดงสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง 2568 (Thailand International Auto Parts & Accessories Show 2025: TAPA 2025) เป็นต้น ต่างประเทศ อาทิ งานแสดงสินค้า Foodex (ญี่ปุ่น) งานแสดงสินค้า AAPEX (สหรัฐฯ) และงานแสดงสินค้า Naturally Good Expo 2025 (ออสเตรเลีย) เป็นต้น

• ปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมากและถูกนำมาเชื่อมโยงกับการค้ามากยิ่งขึ้น พณ. จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัวเตรียมความพร้อมรับมือกับนโยบาย กฎระเบียบ หรือมาตรการใหม่ ๆ พร้อมมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และการเข้าถึงการเงินสีเขียว (Green Finance) ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ปรับปรุงองค์กรให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business Conduct: RBC) และสอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นจุดขายที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

• พณ. ได้จัดทำคลังความรู้ “พาณิชย์คิดค้า อย่างยั่งยืน” (คิดค้า.com/moc-sdgs) รวบรวมข้อมูลการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการค้าที่ยั่งยืนไว้ในแหล่งเดียว ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการค้าที่ยั่งยืน สำหรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า พณ. พร้อมสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

• นอกจากนี้ พณ. ยังมีส่วนร่วมในการผลักดัน BCG และ ESG model รวมทั้งการดูแลปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในมิติต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมและโครงการสำคัญ เช่น

o นำประเด็นสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา FTA ยุคใหม่ของไทยในหลาย ๆ กรอบ อาทิ ASEAN-Australia-New Zealand Thai-EFTA Thai-EU และ ASEAN-Canada

o โครงการ Prime Minister’s Export Award สาขา Best Green & Sustainable Exporter รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (รางวัล Prime Minister’s Export Award) มอบให้ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่นในสาขาต่าง ๆ รวมถึงสาขารางวัลผู้ส่งออกยอดเยี่ยมด้านความยั่งยืน (Best Green & Sustainable Exporter) ซึ่งมอบให้กับบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจด้าน Sustainability โดดเด่น มีการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

o Thailand Trust Mark (T Mark) ตราสัญลักษณ์ที่รับรองคุณภาพสินค้าและบริการของไทย ครอบคลุม 4 มิติ คือ (1) การผลิตที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว (2) แรงงานที่เป็นธรรม (3) การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ (4) มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการนำเสนอสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดโลก และสร้างภาพลักษณ์ด้านคุณภาพและมาตรฐานให้กับสินค้าและบริการของไทย

o ให้ความรู้การปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย และสร้างต้นแบบธรรมาภิบาลธุรกิจ โดยธุรกิจที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจสามารถนำเครื่องหมายดังกล่าวไปแสดงร่วมกับเครื่องหมายการค้าของธุรกิจ หรือแสดงบนเครื่องเขียน เอกสาร หรือแสดงบนสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ พร้อมทั้งได้รับหมายเหตุข้อความรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจในหนังสือรับรองนิติบุคคลของธุรกิจ เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้า

o การประกวดรางวัลสินค้าเกษตรนวัตกรรมสู่ตลาดสากล (Agri Plus Award) จัดประกวดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสินค้าเกษตรไทยระดับประเทศที่เน้นความโดดเด่นในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยนำหลักเกณฑ์การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การให้คะแนนคัดเลือกผลงาน


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *