สภาองค์กรของผู้บริโภค เผยผลงานปี 64 ตั้งเป้ายกระดับ – สร้างความเข้มแข็งในระดับจังหวัด พร้อมเปิดช่องทางสื่อสารเพื่อประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองผู้บริโภค


นับแต่เริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคและคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในทุกด้าน ช่วยเหลือผู้บริโภค 2,816 ราย และเสนอแนะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด พร้อมทั้งสร้างช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนปัญหาด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เล่าว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 สอบ. และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนประจำจังหวัด 10 จังหวัดได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเรียนทั้งสิ้น 2,816 ราย โดยปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือด้านการเงินการธนาคาร มีผู้ร้องเรียนทั้งหมด 1,460 ราย คิดเป็นร้อยละ 51.85 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาการถูกยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด, ไม่จ่ายค่าสินไหม, จ่ายค่าสินไหมล่าช้า ส่วนอันดับที่สอง เป็นเรื่องร้องเรียนด้านสินค้าและบริการทั่วไป มีผู้ร้องเรียนทั้งหมด 770 ราย คิดเป็นร้อยละ 27.34 ของทั้งหมด โดยหลัก ๆ เป็นปัญหาเรื่องการซื้อบริการบัตรคอนเสิร์ต แต่ผู้จัดไม่ได้จัดงานคอนเสิร์ตตามวันเวลาที่แจ้ง และไม่สามารถคืนเงินให้ผู้บริโภคได้

และอันดับที่สาม ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย มีเรื่องร้องเรียน 149 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.33 โดยเป็นปัญหาการเช่าซื้อบ้านพักอาศัยไม่ปิดจำนอง ของบริษัท อีซี่โฮม มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท กลุ่มผู้เสียหายปัญหาบ้านทรุดโครงการศุภาลัย และปัญหาการไม่จัดให้มีสาธารณูปโภคที่เพียงพอในโครงการบ้านจัดสรรของบริษัท เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ส่วนเรื่องร้องเรียนที่เหลืออีก 437 ราย มีทั้งการของคำปรึกษาการใช้สิทธิจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล การร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือปฏิบัติงานล่าช้า จนทำให้เอกสารสำคัญล่าช้ามากขึ้น การขอคำปรึกษาเรื่องการฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

          ทั้งนี้ จากจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด 2,816 ราย สอบ. สามารถดำเนินการ แก้ไขปัญหาได้สำเร็จลุล่วงถึงร้อยละ 90

          นอกจากบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้บริโภคแล้ว ยังได้จัดทำข้อเสนอนโยบายที่สำคัญเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1) ข้อเสนอนโยบายด้านขนส่งและยานพาหนะ มี 2 ประเด็น คือ หนึ่ง เรื่องการแก้ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงทั้งระบบและทำให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้ และสอง ประเด็นยุติการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า 8 ปีพร้อมจัดการเรื่องปัญหาราคา เปิดเผยข้อมูลและจัดการประมูลใหม่

2) ข้อเสนอนโยบายด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คือเสนอให้ชะลอการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบเสร็จสิ้น

3) ข้อเสนอนโยบายด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม มี 3 ประเด็น ได้แก่ หนึ่ง ลดภาษีน้ำมัน ยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล E85 และดีเซล B20 รวมถึงมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด – 19 สอง คัดค้านการอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบรวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายจากโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตในปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 50 และเสนอให้ทบทวนการทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสาม เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน

4) ข้อเสนอนโยบายด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประเด็นการกำหนดค่าบริการอินเตอร์เน็ตล่วงหน้า 2 ปี การส่งข้อความและโทรศัพท์หลอกลวงหรือรบกวน (SMS) มาตรการโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล

5) ข้อเสนอนโยบายด้านการเงินและการธนาคาร คือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาแอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามกฎหมาย

และ 6) ข้อเสนอนโยบายด้านสินค้าและบริการทั่วไป มี 2 ประเด็น คือ หนึ่ง การเสนอมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เกี่ยวกับหน้ากากอนามัยชนิดใช้ครั้งเดียว ประเภทหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ระดับการป้องกันการใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) ระดับการป้องกันการใช้งานด้านการแพทย์ทางศัลยกรรม (Surgical Grade) และหน้ากากอนามัยชนิด N95 และสองการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ

สารี กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการทำความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภาคธุรกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายออนไลน์ และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ในอนาคต สอบ. หวังว่า ประชาชนผู้บริโภคจะช่วยผลักดันนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคที่สภาเสนอเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในเชิงระบบมากขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และขอบคุณปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่สนับสนุนการดำเนินการด้านงบประมาณให้แก่ สอบ.

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า นอกจากงานในด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแล้ว สอบ. ยังมีหน้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภคในการรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่อีกด้วย นอกจากจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัดและกลไกเขตพื้นที่ กระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ปัจจุบัน สอบ. มีองค์กรสมาชิกจำนวน 247 องค์กร กระจายอยู่ใน 36 จังหวัดทั่วประเทศ ในจำนวนนี้จะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยประจำจังหวัด 12 หน่วย และกลไกเขตพื้นที่ จำนวน 5 ภูมิภาค โดยหน่วยงานประจำจังหวัดทำหน้าที่สำคัญ ได้แก่ 1) รับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค 2) ดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารหรือเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค 3) เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานของรัฐในระดับจังหวัดและร่วมผลักดันนโยบายระดับประเทศ 4) สนับสนุนการรวมตัวและช่วยเหลือองค์กรผู้บริโภคภายในจังหวัด เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค เป็นต้น

ในขณะที่กลไกเขตพื้นที่มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1) สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานประจำจังหวัด สามารถดำเนินงานได้ตามบทบาทหน้าที่ 2) สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่สมาชิกเพื่อพัฒนา เป็นหน่วยงานประจำจังหวัด และองค์กรผู้บริโภคให้สามารถจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคได้

โดย สอบ.และองค์กรสมาชิก ได้กำหนดเป้าหมายให้มีหน่วยงานประจำจังหวัดรวม 40 หน่วยและกลไกเขตพื้นที่ใน 7 ภูมิภาค ภายในปี พ.ศ. 2567 เพื่อสนับสนุนผู้บริโภคในระดับจังหวัดให้เข้มแข็งและสามารถพิทักษ์สิทธิตนเองได้มากขึ้น

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ปัจจุบัน สอบ. มีหน่วยประจำจังหวัด และศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One – Stop Service) ช่วยทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยมีช่องทางการร้องเรียนที่หลากหลายเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคผ่านทาง Inbox facebook สภาองค์กรของผู้บริโภค หรืออีเมล tcc.complaint@thaiconsumerscouncil.org สำหรับผู้บริโภคที่ไม่สะดวกใช้อินเทอร์เน็ตสามารถร้องเรียนผ่านเบอร์โทรศัพท์ 081 134 9216

อิฐบูรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากช่องทางการร้องเรียนแล้ว สอบ. ยังมีช่องทางสำหรับเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอีกหลายช่องทาง ได้แก่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ทวิตเตอร์ tccthailand อินสตาแกรม tcc.thailand ไลน์ออฟฟิศเชียลแอคเคาต์ tccthailand และช่องยูทูบ tccthailand นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถติดตามข่าวสารและติดต่อ สอบ. ได้ทางเว็บไซต์ www.tcc.or.th อีกด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สอบ. ได้เปิด Clubhouse ในชื่อ Consumers Today โดยมีเป้าหมายเพื่อชวนผู้บริโภคร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ เกี่ยวกับปัญหาผู้บริโภคที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน เรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยก็เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค หรือประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจในช่วงนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น หัวข้อ “#ไหนว่าจะไม่หลอกกัน” ที่ชวนนักช้อปออนไลน์ มาฟังประสบการณ์คนโดนโกง และคนรอดโกงจากการซื้อของออนไลน์ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทุกคน

ประเด็นเรื่อง “ทำอย่างไรให้เจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถูกเรียกเก็บเงิน”  ที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า ใครที่จะได้รับสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถูกเรียกเก็บเงิน (UCEP) เจ็บป่วยแค่ไหนถึงเรียกฉุกเฉินวิกฤติ? และทำอย่างไรให้เจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถูกเรียกเก็บเงิน หรือประเด็นเรื่อง “ทำไมหมูถึงแพงจนเกือบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ” ที่ชวนผู้บริโภคมาพูดคุยว่า สาเหตุของหมูแพงเกิดจากอะไร แล้วแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ หมูมีราคาที่ยุติธรรม อยู่ที่ไหน เป็นต้น

อิฐบูรณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้บริโภคคนใดที่มีปัญหา ก็สามารถติดต่อ – ร้องเรียนได้ที่ หน่วยประจำจังหวัดทั้ง 12 จังหวัดและศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จตามช่องทางที่ได้กล่าวไปข้างต้น และอยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคร่วมติดตามช่องทางการเผยแพร่ต่างๆ ของ สอบ. เพื่อรับข้อมูล ข่าวสาร และการเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ทั้งนี้ สอบ. พัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคปัจจุบันผ่านทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองผู้บริโภค


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *