
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานป.ป.ส. ดินแดง มีการจัดงานแถลงข่าวเปิดกิจกรรม “พืชกระท่อม สร้างเศรษฐกิจไทย ใช้อย่างไรให้มีคุณค่าและยั่งยืน” โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรมว.ยุติธรรม นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. นายสมชาย ศรีวิริยะจันทร์ หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์คณะวิทยาศาสตร์ และประธานกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายคฑาวุธ ทองไทย (อาจารย์ไข่ วงมาลีฮวนน่า) และนายณรงค์ชัย สงไข่ วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยทุ่งนารี จ.พัทลุง ร่วมงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การปลลล็อกพืชกระท่อมในช่วงแรกหลายคนยังกังวลว่าจะมีปัญหาอาชญากรรมหรือเรื่องสุขภาพหรือไม่ แต่วันนี้เราทำให้เห็นแล้วว่ามีผลดีมากกว่าที่หลายคนคิด เจตนารมย์ในการปลดล็อกพืชกระท่อมนั้น เพราะเราเห็นว่าชาวบ้านบริโภคกันมาตลอดแต่ผิดกฎหมาย ก็มีคนไปแอบใช้ถูกจับดำเนินคดีจำนวนมาก เราจึงปลดล็อกนำคนออกจากคุก ไม่ดำเนินคดี เราช่วยได้หลายพันคน เดิมที่มีคนที่เกี่ยวข้องกับกระท่อมประมาณ 150,000 คน มีหมู่บ้านนำร่องที่เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์ 157 หมู่บ้าน แต่วันนี้คนที่เกี่ยวข้องและใช้กระท่อมน่าจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า และการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะมีการสัญจรล่องใต้ 4 จังหวัด คือ วันที่ 23 มี.ค. ที่ จ.สงขลา วันที่ 1 เม.ย. ที่ จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 21 เม.ย. ที่ จ.พัทลุง และวันที่ 6 พ.ค. ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งสาเหตุที่เราเน้นที่ภาคใต้เพราะเป็นการลงไปขอบคุณหมู่บ้านทดลองที่เป็นส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการปลดล็อกที่รอมานานถึง 78 ปี


นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่เราเจอวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจติดขัด แต่พืชกระท่อมเป็นพืชตัวใหม่ที่ทำเงินได้มหาศาล จากการคำนวณคร่าว หากเราปลูก 1 ไร่ประมาณ 25 ต้น เก็บใบได้ประมาณ 5,400 กิโลกรัมต่อปี ราคาขายวันนี้กิโลกรัมละ 500 บาท จะมีรายได้ 2.7 ล้านบาทต่อปี ซึ่งขณะนี้มีคนปลูกอยู่ประมาณ 40,000 ไร่ ดังนั้นปีหนึ่งๆจะมีรายได้จากใบกระท่อมถึง 108,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าจากวันที่ปลดล็อกพืชกระท่อม 24 ส.ค.2564 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 5-6 เดือน เราสามารถเปลี่ยนใบไม้ที่ผิดกฎหมายเป็นเงินได้ถึงแสนล้านบาท ส่วนสเต็ปต่อไปเราคงต้องต่อยอดในการทำตลาดเพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งในช่วงแรกคงทำเป็นในลักษณะของกระท่อมบดผง และค่อยพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆต่อไป เชื่อว่าอีก 2 ปีการส่งออกคงเป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น
นายวิชัย กล่าวว่า ตอนแรก ป.ป.ส.จัดให้มีหมู่บ้านนำร่อง ที่อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนที่อื่นเราตัดทำลายทิ้ง แต่ท่ารัฐมนตรีขอให้คงไว้ และไปขออนุญาตทาง อย. และจัดทำหมู่บ้านนำร่อง 157 แห่งขึ้นมาคงพื้นที่ปลูกไว้ 24,000 ไร่ โดยปัจจุบันหลังการปลดล็อกมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ไร่ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ คงต้องใช้เวลาอีกระยะถึงจะมีจำนวนที่พอส่งออกได้ ส่วนเรื่องที่คนกังวลในการบริโภคแล้วเกิดอุบัติเหตุทางรถหรือไปก่ออาชญากรรม จากข้อมูลของตำรวจและบริษัทประกันภัย



นายสมชาย กล่าวว่า งานวิจัยพืชกระท่อม เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2545 โดยเป็นการวิจัยเรื่องพื้นฐาน จากข้อมูลพบว่า สามารถใช้ทดแทนสารเสพติดบางประเภทได้ เช่น เฮโรอีน ซึ่งการวิจัยในปัจจบันพบว่าสามารถทดแทนสารเสพติด เช่น เมทแอมเฟตามีนได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการวิจัยผลกระทบต่อสมอง โดยมีผู้ทดลองที่ใช้นานกว่า 1 ปี และผู้ทดลองใช้นานที่สุดคือ 47 ปี โดยใช้การวัดคลื่นสมองเทียบกับคนที่ไม่เคยใช้เลยพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน และยังมีการวิจัยอื่นๆที่เสริมเข้ามา เช่น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ยาต่างๆ รวมถึงในต่างประเทศมีการใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆที่ไม่ใช่ยา ซึ่งเรากำลังจัดหาตัวอย่างมาวิจัยดูว่าเราจะได้หรือไม่
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ชาวบ้านในอดีตเริ่มจากการใช้เคี้ยวและปลูกไว้ใช้เอง แต่เมื่อมีการปลดล็อกก็มีการเพาะต้นกล้าและขายใบ รวมกลุ่มกันสร้างวิสหกิจชุมชน ทำผลิตภัณฑ์แปรรูป สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและครอบครัวมากขึ้น ตนยืนยันว่าผู้ใหญ่ในพื้นที่รวมทั้งตน มีการใช้ใบกระท่อมมาอย่างยาวนาน ยืนยันว่าเป็นพืชที่มหัศจรรย์ ตนต้องขอบคุณ รัฐบาลและนายสมศักดิ์ ที่ช่วยผลักดันทำกฎหมายดีๆที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน
นายคฑาวุธ กล่าวว่า ตนในฐานะคนใต้ ต้องขอบคุณรัฐบาลและนายสมศักดิ์ ตนเติบโตมากับวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่ปูย่าตายายเคี้ยวใบกระท่อมเพื่อให้สู้แดด มีกำลังทำไร่ไถนาและเลี้ยงวัว เป็นวิถีดั้งเดิมที่อุดมสมบูรณ์ของสยามประเทศ พืชกระท่อมไม่ได้สร้างเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังสร้างวิถีพอเพียงด้วย ตนในฐานะศิลปินนักแต่งแพลง ก็ต้องใช้เพลงสื่อสารออกมา โดยตนได้แต่งเพลง “วันที่รอคอย” เพื่อใช้สื่อสารกับทุกๆคน และวงมาลีฮวนน่าจะไปร่วมงานสัญจร 4 จังหวัดด้วย