
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกมิติของการพัฒนาธุรกิจในวันนี้ ดิจิทัล คือกุญแจสำคัญ ซึ่งสำหรับภาคการท่องเที่ยวเราได้ขานรับนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีหรือ Thailand 4.0 ด้วยการวางกลยุทธ์ปักหมุดท่องเที่ยวไทยผ่านแนวคิด “Digital Tourism” หรือ การจัดทำข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน มากไปกว่านั้นยังนำเอาผลการวิจัยต่างๆ อาทิ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวมาออกแบบบกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน” นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา เผยถึงภาพรวมการทำงานและก้าวเดินต่อจากนี้ของ ททท.ในการนำดิจิทัลเข้ามาปรับใช้

นายนิธี กล่าวว่า “ในปี 2565 ททท.มีเป้าหมายที่จะนำองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการการทำงานอย่างกว้างขวางและครอบคลุมเพื่อร่วมสร้าง Digital Tourism ให้เกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมา ททท. เราได้มีการเตรียมความพร้อมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเราให้ความสนใจทั้งแพลตฟอร์มใหม่ๆ เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งเทรนด์ อาทิ IOT หรือ เมตาเวิร์ส อย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน ททท.ให้เป็นผู้นำในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างยั่งยืน โดยได้มีการพัฒนาในส่วนของสินค้า การบริการและการส่งเสริมแนวทางการตลาดต่างๆ”


อย่างไรก็ดี สำหรับทิศทางการท่องเที่ยวในปีนี้ถือเป็นปีแห่งการฟื้นตัว หลังจากกระทรวงสาธารณสุขเริ่มผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศเพื่อให้สอดรับกับวิถีใหม่อย่าง Next Normal ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา (มิถุนายน – กรกฎาคม 65) พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเฉลี่ยวันละ 4 หมื่นราย โดยเมื่อคิดทั้งปีในขณะนี้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยแล้วกว่า 3 ล้านราย ซึ่งปี 2565 นี้เราตั้งเป้าเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ 10 ล้านราย ซึ่งในช่วง ไตรมาสสุดท้ายที่มีกิจกรรม ประเพณีและความสวยงามต่างๆของธรรมชาติเราจะจัดแคมเปญเพื่อกระตุ้นเพื่อเชิญชวนให้ชาวต่างชาตอเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศใหม่ๆ ทั้งเอเชียและยุโรป


สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทย การท่องเที่ยวในประเทศ ททท. จะกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ผ่านแคมเปญ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย…เที่ยวได้ทุกวัน” ชูเอกลักษณ์ของแต่ละภาค เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ และเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว โดยคาดหวังไว้ว่าในปีนี้จะมีการท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 160 ล้านทริป ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆของไทยได้พักฟื้นและกลับมาสวยงาม คาดว่าจะเป็นแรงจูงใจให้คนไทยได้ออกมาท่องเที่ยว รวมทั้งการสนับสนุนจากโครงการต่างๆของภาครัฐ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน
เมื่อสอบถามถึงประเด็นท่องเที่ยวไทยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 นายนิธี ขยายความว่า “สำหรับทิศทางในระยะยาว จะทำการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี และเปิดตลาดเชิงพื้นที่ใหม่ ๆ สร้างการรับรู้และส่งเสริมตลาดในประเทศใหม่ เช่น ซาอุดีอาระเบีย และขยายพื้นที่ไปเมืองรองในตลาดเดิม เช่น ตอนกลางของสหรัฐ ตั้งเป้าว่าจะดันรายได้การท่องเที่ยวปี 2566 รวม 2.38 ล้านล้านบาท”

ด้านแผนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปี 2566 พร้อมเดินหน้าฟื้นการท่องเที่ยวไทย เตรียมผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสมดุลทุกมิติ เน้นการสร้างคุณค่าการเดินทาง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (High Value Sustainable Tourism) ด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. กระตุ้นความต้องการเดินทาง (Drive Demand) 2. สร้างประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว (Meaningful Travel) 3. ต่อยอดพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Shape Supply) ซึ่งนำไปสู่ 4. ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (High Value and Sustainability) และผสมผสาน Soft Power ของไทย รวมทั้ง บูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน เพื่อปักหมุดหมาย
“Digital Tourism จะกลายเป็นกลไกที่สำคัญที่เราพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้กลายเป็นขุดหมายปลายทางในฝันของการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งประโยชน์จากการพัฒนาไม่เพียงแต่ยกระดับองค์กรเท่านั้น ยังทำให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาพรวมของเศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตอีกครั้ง” นายนิธี กล่าวทิ้งท้าย