“ดอยคำ” เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลคนไทย


ในปีนี้ (พ.ศ.2561) เรายังคงใช้กลยุทธ์หลักในการเดินหน้าต่อไปด้วยการ “ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทย ได้รับประทานน้ำผลไม้และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณค่า บนกรอบพื้นฐานความมีมาตรฐานสากลในราคาที่เข้าถึงได้” คำกล่าวที่มุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังจากแขกรับเชิญของเราในวันนี้ นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารท่านนี้ เผยถึง ภาพรวมของดอยคำในปีนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า เรายังคงมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามพันธกิจในการพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการ พัฒนาเกษตรกรและผลผลิตที่มีคุณภาพที่ยั่งยืน พัฒนาชุมชนให้อยู่ดีกินดีภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งพัฒนาให้เป็นองค์กรสีเขียว โดยในมิติแรกสำหรับภาคการผลิตนอกจากการมีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปทั้ง ๓ แห่งอย่าง ฝาง แม่จัน และเต่างอย ในขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งที่ ๔ ที่ละหานทรายจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งนอกจากขยายฐานการผลิตยังเพิ่มโอกาสในการสร้างเกษตรสมาชิกสำหรับการปลูกพืชผลทางการเกษตร

ด้านการบริการนอกจากเจาะตลาดโมเดิร์นเทรดในประเทศ เรายังขยายธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเปิดให้บริการแล้ว ๙ สาขา โดยในปีนี้ตั้งเป้าขยายถึง ๑๐ สาขา ซึ่งทางดอยคำโฟกัสให้แต่ละสาขาขยายไปยังทุกจังหวัด ซึ่งไม่เพียงแต่มีงบประมาณ ทำเลที่ตั้ง ผู้ประกอบการต้องมีจิตสาธารณะและเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันในการเผยแพร่และจำหน่ายผลิตผลของคนไทย พร้อมกันนี้ทางดอยคำได้สร้างโมเดล “ดอยคำ 4.0” ขึ้นมาด้วยการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ ผ่านการจัดทำกลุ่มแอพพลิเคชั่นไลน์เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญวันต่อวันอย่างเท่าทันต่อเหตุการณ์โดยเฉพาะสภาพอากาศเพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรเกิดความยืดหยุ่นและดูแลรักษาพืชผลให้เกิดความสมบูรณ์ด้วยความใกล้ชิด ทั้งนี้นอกจากเกษตรกรจะได้ทราบถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ยังได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตามนอกจากการพัฒนาเกษตรกรผ่านระบบเทคโนโลยี ทางดอยคำยังได้นำเอาผู้เชี่ยวชาญลงไปถ่ายทอดให้ความรู้การปลูกพืชผลแต่ละชนิดให้เกิดผลผลิตที่มากขึ้นในพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ยกตัวอย่างเช่น การนำไม้และลวดมาขึงเพื่อยืดผลมะเขือเทศให้สูงขึ้นจากพื้น ไม่เพียงแต่ได้พื้นที่การปลูกที่กว้างขึ้นยังลดการสูญเสียอันเกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน อาทิ พื้นดินร้อน เป็นต้น ขณะเดียวกันดอยคำยังพร้อมบูรณาการการและส่งเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่ชาวบ้านเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้กับประชาชนได้ดูแลผืนป่าด้วยความรักและหวงแหน

สำหรับมิติของชุมชนเราส่งเสริม บ้าน วัด โรงเรียนในพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแต่ละแห่ง ทั้งการมอบทุนการศึกษา การบูรณะซ่อมแซมวัดจากสถาปนิก การจัดทำยุวมัคคุเทศก์ ที่สำคัญเราได้พัฒนาภายในโรงงานให้มีการจัดการที่ดี อาทิ การทำฝายชะลอน้ำดอยคำ ด้วยการนำเอาไม้ไผ่ที่ปลูกขึ้นเองในพื้นที่มาวางเป็นโครงสร้างฝาย โดยตรงกลางนำดินมาใส่และอัดให้แน่น พร้อมกับนำเอาหญ้าฝากมาแสมไว้ด้านบน ซึ่งจุดเด่นของหญ้าแฝกนั้นสามารถลงรากได้ลึกหลายเมตรทำให้ฝายดังกล่าวกลายเป็นปราการธรรมชาติ โดยไม่เพียงแต่การชะลอน้ำ ตัวหญ้าแฝกยังกลั่นกรองเศษต่างๆที่ไหลมาตามน้ำ ทำให้พื้นที่ลำธารรอบโรงงานหลวงใส สดชื่น ถือเป็นการนำเอาแนวพระราชดำริในเรื่องหญ้าแฝกของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและแนวพระราชดำริในเรื่องฝายชะลอน้ำของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาปรับใช้เพื่อพัฒนาดอยคำและชุมชนให้ก้าวเดินไปด้วยกันด้วยความสมดุล

ดอยฝิ่นในวันนั้นกลายเป็นดอยคำที่งดงามในวันนี้เพราะพระมหากรุณาธิคุณและพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่กว้างไกลและลึกซึ้ง ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์ยากของราษฎร ศาสตร์ของพระราชาในวันนั้น ครอบครัวดอยคำทุกคนได้นำมาปรับใช้ ซึ่งภาพที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือผลิตภัณฑ์และสินค้าที่มีมากกว่า 200 รหัสสินค้า และหัวใจสำคัญที่ทำให้ดอยคำเติบโตอย่างต่อเนื่องคือการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างสุขให้สังคมด้วยการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน “ดอยคำ” เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลคนไทย


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *