สถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค (ETH Zürich) องค์กรภายใต้การกำกับของ State Secretariat for Education, Research and Innovation (SERI) ของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งดูแลเรื่องการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จับมือกับหอการค้าสวิส-ไทย จัดตั้งโครงการ “Asia Industry Internships” ส่งนักศึกษาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาเรียนรู้งานเพื่อเสริมสร้างทักษะที่ซินเจนทา ประเทศไทย มุ่งเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร อย่างยั่งยืน
โดยซินเจนทา บริษัทผู้นำด้านการเกษตรระดับโลก ได้รับเลือกจากโครงการ “Asia Industry Internships” รับนักศึกษาสวิสในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาฝึกงานเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อส่งเสริมทักษะและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรมของสวิส ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักศึกษาจะได้รับประสบการณ์จริงจากการปฎิบัติงาน สามารถเรียนรู้วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเอเชีย ผลักดันเครือข่ายชุมชนวิทยาศาสตร์สวิสกับพันธมิตรในต่างประเทศให้มีศักยภาพในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
โครงการ “Asia Industry Internships” เริ่มขึ้นเมื่อปี 2564 และจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยกิจกรรมในปีนี้เริ่มในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีนักศึกษาจำนวน 5 คน ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกในการเข้ามาฝึกงานกับบริษัทชั้นนำของสวิส ในประเทศไทยอย่าง บริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย โดยจะมีกำหนดระยะเวลาในการฝึกงาน 3 เดือน ผู้เข้าร่วมจะต้องเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในสวิตเซอร์แลนด์ หรือมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เป็นผู้สำเร็จการศึกษาล่าสุด ไม่เกิน 12 เดือนนับตั้งแต่สำเร็จการศึกษา ณ เวลาที่สมัคร ในสาขา พืชไร่, เคมี, วิศวกรรม, ธุรกิจการตลาด และการสื่อสาร
นายคอนราดิน ราซี อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิส ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “นักศึกษาสามารถแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และได้รับประสบการณ์จากบริษัทข้ามชาตินอกยุโรป ได้เรียนรู้การทำธุรกิจในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทย เราเชื่อว่าประสบการณ์จริงจากการฝึกงานจะทำให้นักศึกษาได้แรงบันดาลใจ เรียนรู้ทักษะและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ และโครงการนี้จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์แบบ People to people ของสวิตเซอร์แลนด์และประเทศไทย ได้เป็นอย่างดี”
นายเดวิด สเตาฟาเชอร์ ผู้อำนวยการหอการค้าสวิส-ไทย กล่าวว่า “โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เรามีโครงการนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย โดยเป็นความพยายามของสถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค (ETH Zürich) ที่ทำให้เกิดโครงการฝึกงานระหว่างประเทศนี้ขึ้น ซึ่งเราเคยส่งนักศึกษาฝึกงานไปเรียนรู้งานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มาแล้ว ครั้งนี้จึงเปิดโลกทัศน์พวกเขา โดยส่งไปฝึกงานที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์บ้าง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ”
โดยกิจกรรมที่นักศึกษาได้ทำร่วมกับซินเจนทา ประเทศไทย คือการลงมือปฏิบัติงานจริงในแต่ละแผนก แต่ละสถานที่ เช่น การฝึกงานในแผนกการตลาด ที่โรงงานผลิตสารอารักขาที่บางปู จ.สมุทรปราการ, โรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ จ.ลพบุรี และการลงพื้นที่เพาะปลูกในโครงการเมล็ดพันธุ์ผัก จ.ขอนแก่น โดยนักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานจริง ได้เรียนรู้ถึงภาคการเกษตร การทำเกษตรแบบเมืองร้อน การเก็บเกี่ยวผลผลิตในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อภาคการเกษตรและโรคเฉพาะถิ่น อีกทั้งยังได้เรียนรู้จักวิถีชีวิตเกษตรกรของประเทศไทย รวมถึงได้ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรระหว่างกัน
นางสาวกล้วยไม้ นุชนิยม รองประธานหอการค้า สวิส-ไทย และกรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด กล่าวว่า “ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เรารับนักศึกษาฝึกงานจากต่างประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกันระหว่างทีมพนักงานที่ประเทศไทยและนักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านวัฒนธรรม การปรับตัว สไตล์การทำธุรกิจ โดยเฉพาะลักษณะของธุรกิจเกษตร เราหวังว่านักศึกษาจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดในเส้นทางอาชีพของพวกเขาต่อไป”
“การรับนักศึกษาฝึกงานครั้งนี้ ทางซินเจนทา ประเทศไทย ต้องการผลักดันนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากในภาคการเกษตรที่เราได้ผลักดันเรื่องความมั่นคงทางอาหารแล้ว ในภาคการศึกษาเรายังต้องการพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยการมอบโอกาสและเพิ่มศักยภาพให้กับเยาวชนผ่านทางโครงการฝึกงานระหว่างประเทศนี้ด้วย” นางสาวกล้วยไม้ กล่าวเสริม
นายสตุลซ์ เกรกอรี นักศึกษาจาก FHNW University of Applied Sciences and Arts Northwestern Switzerland หนึ่งในตัวแทนของนักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า “ในฐานะที่มาฝึกงานที่นี่ ผมได้ทำงานกับทีม Crop Protection Marketing ภารกิจหลักของผมคือการนำดิจิตอลแพลตฟอร์มมาประยุกต์ใช้มากขึ้น ได้เรียนรู้กับแอปพลิเคชัน “ครอปไวซ์ โกรเวอร์” ซึ่งเป็นแอปฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำเกษตรกรในแต่ละวัน ให้คำแนะนำภาษาอังกฤษให้กับเพื่อนร่วมงาน”
“ผมเลือกทำงานกับซินเจนทาเพราะที่นี่เป็นบริษัทระดับโลก และตัวผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ในภาคเกษตรกรรมมาก่อน ผมได้รับประสบการณ์ที่ดีแบบมืออาชีพจากการทำงานในที่ใหม่ๆกับคนใหม่ๆ สภาพแวดล้อม และเครื่องมือใหม่ๆ รวมถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมจากที่นี่ ในอนาคตผมว่าทุกอย่างในโลกล้วนเชื่อมต่อกันหมด การได้รู้ว่าประเทศอื่นๆนอกยุโรปเขาทำอะไรบ้างเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงการได้รับประสบการณ์โดยตรงแบบนี้เป็นเรื่องที่ดีมากๆ” นายสตุลซ์ กล่าวเสริม