อิตาลีประกาศศักดาในสหรัฐ เปิดพื้นที่โชว์นวัตกรรมและความยั่งยืน ชูความเป็นเลิศของสินค้าที่ผลิตในอิตาลี


LaPresse: USA, at LoveITDetroit showcasing innovation and sustainability of Made in Italy

สืบเนื่องจากความสำเร็จในการจัดงานเมื่อปี 2565 ทางสถานกงสุลอิตาลีในดีทรอยต์จึงประกาศร่วมปรากฏตัวใน “เดือนแห่งการออกแบบในดีทรอยต์” (Detroit Month of Design) อีกครั้ง ผ่านทางโครงการ ‘เลิฟอิตดีทรอยต์’ (LoveItDetroit) โดยได้เปิดโซนพิเศษเพื่อนำเสนอความยั่งยืนโดยเฉพาะ ซึ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. นี้ ที่ 1001 วู้ดเวิร์ดอเวนิว (Woodward Avenue) โซนจัดแสดงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นย้ำถึงวิธีที่บริษัทอิตาลีดำเนินไปตามเส้นทางแห่งความยั่งยืน โดยผสมผสานแนวทางนี้เข้ากับแก่นแท้ของสินค้าที่ผลิตในอิตาลี (Made in Italy) หรือเมดอินอิตาลี และเนื่องในโอกาสวันเปิดงานดีทรอยต์ ออโต้โชว์ (Detroit Auto Show) ประจำปี 2566 นิทรรศการดังกล่าวได้เปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนนี้ เข้ามาหารือเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลวงแห่งยานยนต์ของสหรัฐฯ อย่างดีทรอยต์กับอิตาลี โดยเฉพาะเมืองตูริน และการเปลี่ยนแปลงพลังงานในภาคยานยนต์

ความสัมพันธ์ระหว่างดีทรอยต์กับอิตาลีย้อนกลับไปในปี 2442 ซึ่งเป็นปีแรกของงานออโต้โชว์ และเป็นปีเดียวกับที่อิตาลีส่งกงสุลคนแรกไปยังเมืองนี้ โดยคุณมาริแองเจลา ซัปเปีย (Mariangela Zappia) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำสหรัฐ กล่าวว่า “ปัจจุบัน เราเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่มีสถานกงสุลในดีทรอยต์ ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างดีทรอยต์กับอิตาลีได้มากมาย และแน่นอน ระหว่างดีทรอยต์กับเมืองหลวงแห่งยานยนต์ของอิตาลีอย่างตูริน” คุณซัปเปีย กล่าว “อิตาลีเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในภาคส่วนยานยนต์” พร้อมกันนี้ก็ได้กล่าวถึง “เหล่าแชมป์อิตาลี” ที่มาร่วมงานออโต้โชว์ประจำปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนรถยนต์ไฟฟ้า

คุณอัลเลกรา ไบสตรอกกี (Allegra Baistrocchi) เจ้าหน้าที่กงสุลอิตาลีในดีทรอยต์ ผู้สนับสนุนโครงการ ‘เลิฟอิตดีทรอยต์’ กล่าวว่า “คืนนี้เราเฉลิมฉลองการเดินทางที่ยั่งยืน หลังจากที่ได้เฉลิมฉลองในภาคอวกาศและแฟชั่นของอิตาลีแล้ว เราต้องการใช้ความยั่งยืนเป็นธีมหลัก เนื่องจากครอบคลุมได้หลายภาคส่วน” และเสริมว่า “อิตาลีเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำลังต่อสู้เพื่อสิ่งนี้ในระดับสากล ดังนั้นทำไมเราถึงไม่ใช้การออกแบบเป็นตัวขับเคลื่อนในการแก้ปัญหานี้ล่ะ”

คุณเคอร์รี ดักแกน (Kerry Duggan) ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและซีอีโอของซัสเตนอบิลิดี (SustainabiliD) ซึ่งเป็นองค์กรที่เธอได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 หลังจากดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาต่าง ๆ ในฝ่ายบริหารของทั้งอดีตประธานาธิบดีโอบามา (Obama) และประธานาธิบดีไบเดน (Biden) ยังได้พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างดีทรอยต์กับอิตาลีด้วยว่า “เห็นได้ชัดว่าเราทั้งสองมีสิ่งเหมือนกันที่เราสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ และไม่เพียงแต่เราผลิตสิ่งต่าง ๆ เรายังมีนวัตกรรม เราออกแบบ เราทั้งคู่มีชื่อเสียงในด้านการออกแบบ ดีทรอยต์เป็นเมืองแห่งการออกแบบขององค์การยูเนสโก (UNESCO) และเห็นได้ชัดว่าฉันไม่จำเป็นต้องพูดอะไรเกี่ยวกับอิตาลีและมรดกทางการออกแบบของอิตาลี”

คุณมาร์โก บรูซซาโน (Marco Bruzzano) รองประธานอาวุโสฝ่ายการกำกับดูแลของดีทีอี (DTE) บริษัทพลังงานแห่งเมืองดีทรอยต์ หนึ่งในบรรดาวิทยากรในช่วงเย็น กล่าวว่า “บริษัทอย่างดีทีอีมุ่งเน้นไปที่การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด เราเพิ่งประกาศว่า เราจะเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดของเราภายในปี 2575 และเรากำลังดำเนินการตามแนวทางที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 85% ภายในปี 2575 ระบบนิเวศนวัตกรรมที่เรามีในดีทรอยต์กับบริษัทยานยนต์ สาธารณูปโภค และการลงทุนที่เกิดขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้นี่เป็นช่วงเวลาที่น่าทึ่ง” คุณบรูซซาโนกล่าวโดยเน้นย้ำว่า “ในช่วงเวลานี้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่ธุรกิจไปจนถึงประชาชน การรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด การเข้าถึง และการทำความเข้าใจข้อกังวลของทุกคนให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในระหว่างที่เราจัดการกับการเปลี่ยนแปลงนี้”


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *