โครงการ “วน” และ “รีไซเคิลเดย์” เปิดตัวการเป็นพันธมิตรเพื่อประสานความร่วมมือและนำจุดแข็งของทั้งคู่มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะชุมชน โดยมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาแนวทางและพัฒนากระบวนการในการลดปริมาณขยะพลาสติกยืด ซึ่งเป็นขยะที่มีปริมาณมากแต่ยังถูกละเลยและขาดกระบวนการจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถเก็บกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากปริมาณขยะฝังกลบที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายชนัมภ์ ชวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด กล่าวว่า “การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพเริ่มต้นจาก mindset ที่ถูกต้องต่อการแยกขยะ ทุกคนสามารถร่วมกันส่งขยะทิ้งปลายทางที่ถูกต้อง ซึ่งนี่เป็นพื้นฐานในการสร้างการจัดการขยะที่ดีขึ้น องค์ความรู้เป็นสิ่งที่ทั้งเอกชนและภาครัฐสามารถร่วมกันส่งเสริมให้ทุกคนเข้าใจถึงความสำคัญในการแยกขยะก่อนทิ้ง นอกจากนั้น การที่ทุกภาคส่วนออกมารวมพลังกันก็จะช่วยส่งต่อขยะให้ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องอย่างที่ “รีไซเคิลเดย์” ได้ร่วมกับ “โครงการ วน” ช่วยกันจัดการพลาสติกยืดที่เป็นถุงหรือฟิล์ม packaging ชนิดอ่อนและยืดได้ที่มีอยู่ทุกบ้าน เราก็ทำให้ขยะตรงนั้นไม่ต้องไปจบที่บ่อฝังกลบ ต้องช่วยกันให้ความรู้ว่าปลายทางขยะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้จริง คนน่าจะอยากมีส่วนร่วมมากขึ้นแน่นอนครับ”
นายศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “ขยะพลาสติกยืดนับว่าเป็นหนึ่งในขยะที่มีปริมาณมากและสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างมากในปัจจุบัน แต่กลับถูกละเลยและได้รับความใส่ใจน้อยกว่าขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญ เกิดจากการคัดแยกที่ค่อนข้างยากกว่าขยะประเภทอื่น อีกทั้ง ผู้บริโภคยังขาดความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะประเภทนี้ให้ถูกต้อง จึงส่งผลต่อเนื่องให้กลุ่มผู้ประกอบการกำจัดขยะไม่ให้ความสำคัญกับขยะพลาสติกยืดนี้เท่าที่ควร เนื่องจาก มีกระบวนการในการคัดแยกในภายหลังยากกว่าขยะกลุ่มอื่น ๆ หากไม่ได้มีการคัดแยกมาอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทางจากผู้บริโภค จึงทำให้ขยะพลาสติกยืดส่วนใหญ่ต้องถูกส่งไปทิ้งที่บ่อฝังกลบ หรือ หลุดรอดออกไปสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถเก็บกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ได้ การที่โครงการ “วน” ได้มีโอกาสร่วมมือกับ “รีไซเคิลเดย์” จะช่วยให้สามารถลดช่องว่างดังกล่าว โดยโครงการ “วน” จะสนับสนุนในการให้ความรู้ตั้งแต่ต้นทางกับกลุ่มชุมชนที่ “รีไซเคิลเดย์” ให้บริการ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการแยกขยะพลาสติกยืดออกจากขยะประเภทอื่น ๆ ทำให้ง่ายกับผู้ประกอบการกำจัดขยะในการนำไปคัดแยกในภายหลัง นอกจากนั้น โครงการ “วน” ก็ยังเป็นปลายทางให้กับขยะพลาสติกยืดที่ “รีไซเคิลเดย์” เก็บกลับมาได้ โดยจะนำไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก PCR (Post-Consumer Recycled) เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป”