เคทีซีพร้อมส่งไม้ต่อกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ดีเอ็นเอเดิม “The story continues…the next journey begins” ปักธงพัฒนา 3 แกนหลัก คน-กระบวนการ-เทคโนโลยี พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์และบริการ โดยใช้เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) และ RPA (Robotic Process Automation) เข้ามาทำงานร่วมกับคนแบบไร้รอยต่อ หวังให้สมาชิกได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยจากการใช้งาน เดินหน้าทำกำไรนิวไฮต่อเนื่อง และรักษาพอร์ตสินเชื่อทุกผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและเติบโต สร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกทุกกลุ่ม
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปี 2567 การเดินทางของเคทีซีจะเริ่มต้นอีกครั้งพร้อมสานต่อเรื่องราวดีๆ ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องโดยทีมบริหารรุ่นใหม่ เริ่มตั้งแต่เคทีซีจะมีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ท่านใหม่ คือ คุณพิทยา วรปัญญาสกุล ซึ่งร่วมงานกับเคทีซีมายาวนานถึง 26 ปี และจะเริ่มบทบาท CEO ใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2567 นี้ รวมทั้งทีมผู้บริหารระดับสูงในสายงานต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นคนที่ร่วมงานกับเคทีซีมายาวนาน มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูงในงาน เข้าใจในวัฒนธรรมองค์กร ที่สำคัญมีดีเอ็นเอของความเป็นเคทีซีอยู่เต็มเปี่ยม จึงทำให้มั่นใจได้ว่าทีมบริหารชุดใหม่นี้ จะสามารถส่งต่อและสานต่อหน้าที่และภารกิจสำคัญของเคทีซีให้สำเร็จได้อย่างราบรื่นต่อเนื่อง”
นางพิทยา วรปัญญาสกุล กล่าวถึงทิศทางธุรกิจเคทีซีในปี 2567 และก้าวต่อไปของเคทีซีว่า “เราพร้อมจะสานต่อวิสัยทัศน์และความสำเร็จที่ผ่านมา เพื่อส่งต่อเรื่องราวดีๆ ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยจะทำธุรกิจให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และสานต่อวัฒนธรรมองค์กรที่ดีของเคทีซี ซึ่งจะเป็น ข้อได้เปรียบในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่านิยมองค์กร (Core Value) ที่คนเคทีซียึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน ได้แก่ 1. กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง 2. ทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อน และ 3. ทำสิ่งที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ รวมทั้งปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรแห่งความไว้วางใจ (Trusted Organization) เพื่อส่งต่อความเชื่อมั่นจากภายในเคทีซีไปสู่สมาชิก องค์กร ผู้ถือหุ้นและสังคม”
“เคทีซียังมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อทั้ง 3 ธุรกิจ คือธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพราะเชื่อว่ายังมีผู้บริโภคที่ต้องการสินเชื่ออยู่อีกมาก โดยเคทีซีจะเน้นขยายฐานสมาชิกไปยังผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อเป็นหลัก และไม่ชักจูงให้สมาชิกมีภาระหนี้ที่เกินความจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซีซึ่งมีการเติบโตที่ดีมาตลอดปี 2566 เชื่อมั่นว่ายังสามารถที่จะขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ต่อไป สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลจะยังเติบโตได้จากฐานลูกค้าใหม่และพอร์ตปัจจุบัน ซึ่งเป็นพอร์ตที่นับว่ามีคุณภาพ ส่วนของสินเชื่อ “เคทีซีพี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เป็นผลิตภัณฑ์ที่เคทีซีเห็นศักยภาพที่จะเติบโตได้มากในปี 2567 จากความร่วมมือในการขยายฐานสมาชิกกับธนาคารกรุงไทย ส่วนธุรกิจ MAAI by KTC (มาย บายเคทีซี) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management-CRM) และแพลทฟอร์มลอยัลตี้แบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (Loyalty Platform) ที่เราบ่มเพาะมาระยะหนึ่ง ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่เรามุ่งจะสร้างการเติบโตในปีหน้า”
“การนำพาธุรกิจเคทีซีต่อจากนี้จะตั้งอยู่บน 3 องค์ประกอบคือ คน-กระบวนการ-เทคโนโลยี เริ่มจาก คน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญที่เราดูแลและให้ความสำคัญมาตลอด ในปีหน้าจะมุ่งพัฒนาและส่งเสริมความเป็นผู้นำของผู้บริหารรุ่นใหม่ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาผู้บริหารระดับกลาง โดยเน้นการสร้างความเป็นผู้นำเพื่อจะร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ สำหรับกระบวนการจะให้ความสำคัญกับการออกแบบและปรับกระบวนการทำงานให้กระชับรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยยึดสมาชิกเป็นศูนย์กลาง มีความเข้าใจความต้องการของสมาชิกและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อทำการตลาด พร้อมทั้งปรับปรุง
ผลิตภัณฑ์และบริการของเคทีซี ส่วนเรื่องเทคโนโลยีนั้น เคทีซียังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานคลาวด์ (Cloud Computing) ในโครงสร้างระบบทางด้านไอที รวมถึงการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งจะมีการใช้งานมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลดีในเรื่องความปลอดภัย ความเสถียร ยืดหยุ่น คล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในด้านต้นทุนการดำเนินงานและคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ เคทีซียังเล็งเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาเพิ่มศักยภาพขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงวิธีการที่ปัจจุบันเคทีซีได้ใช้ AI อยู่แล้วให้ใช้งานได้ดีขึ้น หรือการเริ่มศึกษาทดลองและใช้ Generative AI ในกระบวนการทำงานต่างๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อสมาชิก หรือเพื่อปรับปรุงคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ”
“สำหรับแผนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจต่างๆ ในปี 2567 จะประกอบไปด้วย ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี ตั้งเป้ามีสมาชิกบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ เติบโต 15% จากปี 2566 โดยในปี 2567 จะเป็นปีที่เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยสำหรับสมาชิกในทุกขั้นตอนของการใช้บริการบัตรเครดิตเคทีซี ด้วยการพัฒนาแอปฯ “KTC Mobile” ต่อเนื่อง เพื่อให้สมาชิกทำธุรกรรมต่างๆ เองได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งต่อยอดผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต “เคทีซี ดิจิทัล” (KTC DIGITAL CREDIT CARD) ให้ตอบโจทย์การใช้งานออนไลน์มากขึ้น ด้วยการพัฒนาช่องทางสมัครบัตรออนไลน์ E-Application เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนออนไลน์ ให้สามารถสมัครได้สะดวกด้วยตนเองและยังปลอดภัยเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับการบริหารพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิตจะทำงานแบบเชิงรุก เพื่อให้สมาชิกมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และเป็นพอร์ตลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยใช้ระบบมาร์เก็ตติ้ง ออโตเมชัน (Marketing Automation) เป็นเครื่องมือการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าแบบเซ็กเมนท์ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ดี เรายังคงเน้นทำการตลาดในกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมของเราเติบโตได้ดี อีกทั้งจะเดินหน้าสร้างคุณค่าร่วม (Co-creating value) กับพันธมิตรหลากหลายธุรกิจ ทั่วประเทศกว่า 2 พันราย เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิกบัตร และหาโอกาสใหม่ๆ ในการต่อยอดธุรกิจด้วยกันในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยมีคะแนน KTC FOREVER เป็นฟีเจอร์หลักในการให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้า”
“สินเชื่อส่วนบุคคลยังเป็นธุรกิจที่เราเน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ โดยในปี 2567 ตั้งเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เพิ่มขึ้น 100,000 ราย ด้วยแผนกลยุทธ์หลัก 2 เรื่อง คือ 1. สรรหาสมาชิกใหม่ที่มีคุณภาพ เน้นการรับสมัครผ่านช่องทางสมัครสินเชื่อออนไลน์ E-Application เพื่อให้สมาชิกทำรายการได้ด้วยตนเอง และรู้ผลอนุมัติแบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีทันที รวมทั้งจะพัฒนากระบวนการรับสมัครผ่านเว็บไซต์ของเคทีซีและของพาร์ทเนอร์ 2. สร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บัตรกดเงินสดให้กับสมาชิก “เคทีซี พราว” กว่า 700,000 ราย ไม่ว่าจะเป็นการ “รูด โอน กด ผ่อน” โดยจะเพิ่มฟังก์ชันการเบิกถอนและใช้วงเงินผ่านแอปฯ “KTC Mobile” ให้รองรับการโอนเงินไปยังบัญชีพร้อมเพย์ เพิ่มเติมจากการโอนเงินเข้าบัญชีได้หลากหลายธนาคารในปัจจุบัน รวมทั้งจะยังคงจัดแคมเปญ “เคลียร์หนี้เกลี้ยง” ที่โดนใจสมาชิกมาตลอด 10 กว่าปี เพื่อส่งเสริมและตอบแทนให้ผู้ที่ใช้สินเชื่ออย่างมีวินัย ได้รับสิทธิ์ลุ้นเคลียร์หนี้กับเคทีซี”
“ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ยังคงเน้นการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 2567 ที่ 6,000 ล้านบาท ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1. เน้นสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ด้วย คอนเทนต์ที่เน้นความบันเทิง เข้าถึงง่ายผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียล มีเดีย เสริมด้วยโฆษณาออฟไลน์ และสื่อตามพื้นที่สาขาของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ 2. ผนึกกำลังกับธนาคารกรุงไทยในการขยายฐานลูกค้า ผ่านสาขาธนาคารกว่า 900 แห่งเป็นหลัก เสริมด้วยแพลทฟอร์มออนไลน์ของธนาคาร อย่าง NEXT ถุงเงินและเป๋าตัง โดย “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อเดียวของธนาคารกรุงไทย ที่สามารถทำรายการอนุมัติได้แบบเรียลไทม์ พร้อมรับเงินทันที 3. ตอกย้ำและเสริมความแกร่งให้กับจุดแข็งผลิตภัณฑ์ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ในฐานะผู้บริการรายเดียวที่ให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที และยังขยายฐานไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อทะเบียนรถบิ๊กไบค์ เคทีซี พี่เบิ้ม” พร้อมบัตรกดเงินสด เคทีซี พี่เบิ้ม อีกด้วย”
“ในส่วนของ MAAI by KTC ในปี 2567 มีแผนจะขยายจำนวนพันธมิตรธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อีกไม่ต่ำกว่า 20 ราย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนสมาชิก MAAI ประมาณ 2 ล้านราย โดยพันธมิตรเป้าหมายของแพลทฟอร์ม MAAI จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เน้นสร้างความถี่ในการกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการซ้ำ แพลทฟอร์ม MAAI ยังมีการนำเสนอโมเดลการให้บริการที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยพันธมิตรร้านค้าบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะพัฒนาเชิงกลยุทธ์ใน 3 เรื่องหลักคือ 1. ต่อยอดการพัฒนาแพลทฟอร์ม ฟีเจอร์หรือฟังก์ชันใหม่ๆ ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ 2. เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับประสบการณ์การใช้งานแอปฯ MAAI by KTC ให้ง่าย สะดวกและดียิ่งขึ้น 3. ขยายร้านค้ารับแลกคะแนน MAAI ให้ครอบคลุม ไลฟ์สไตล์และความต้องการของสมาชิก MAAI by KTC มีจุดรับแลกคะแนนที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงทุกธุรกิจ และมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ที่แข็งแรง ให้พันธมิตรสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”
“ในส่วนของการบริหารต้นทุนทางการเงิน ในปี 2567 เคทีซีจะยังคงรักษาระดับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีแผนจะระดมเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 13,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงรองรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดประมาณ 11,850 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ประมาณ 20:80 และต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ประมาณ 3.1% สูงขึ้นจากสิ้นปี 2566 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8%”
“อีกเรื่องสำคัญที่เคทีซีทำมาตลอดและจะทำต่อไปคือ การพัฒนาเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรในองค์กร เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์และสร้างความไว้วางใจแก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น “บัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล” ที่เชื่อมต่อการชำระแบบคิวอาร์เพย์ (QR Pay) และการชำระผ่านอุปกรณ์ต่างๆ (Device pay) ซึ่งโดดเด่นด้านนวัตกรรมความปลอดภัยครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยรูปลักษณ์ของบัตรที่โปร่งแสงและไม่มีหมายเลขบนบัตร อีกทั้งเลขหลังบัตรที่เปลี่ยนทุกครั้ง (Dynamic CVV/CVC2) การออก “บัตรเครดิตเคทีซี ดิจิทัล” ยังเป็นความตั้งใจของเคทีซีในการช่วยลดปริมาณขยะบัตรพลาสติกอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ เคทีซียังได้รับการต่ออายุการรับรองระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO/IEC 27001:2013 และระบบบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ISO/IEC 27701:2019 รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนี SETTHSI และสมาชิก FTSE4Good Index Series อย่างต่อเนื่อง”