ถอดบทเรียน “3 องค์กรใหญ่” เร่งเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน กู้โลกเดือด


จากภาวะโลกร้อน โลกรวน สู่โลกเดือด ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุกระหน่ำ ฯลฯ กระทบความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และขีดความสามารถในการแข่งขัน เหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องเร่งแก้ไขปัญหาก่อนสาย  ถือเป็นภารกิจที่ “ต่อรอง” ไม่ได้อีกต่อไป 

ที่ผ่านมาจึงเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของหลายภาคส่วน เพื่อ “กู้วิกฤติโลกเดือด” อย่างในงาน ESG Symposium 2023 ที่ได้เชิญภาคเอกชนโดยเฉพาะใน “3 อุตสาหกรรมหลัก” ที่ตื่นตัวในการปรับธุรกิจเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมยานยนต์ 

 “3 องค์กรใหญ่” ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลักดังกล่าว ได้แก่ บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด , บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ร่วมกันถอดบทเรียน เคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดผลกระทบโลกร้อน ทำให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน

อุตสาหกรรมอาหารกับเป้าหมาย Net Zero

“ถ้าเราไม่ช่วยกัน ธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้ เพราะผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะทำให้เราไม่มีวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอีกต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องตระหนัก”  สลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เผย

โดยบริษัทจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก ที่มีธุรกิจกระจายอยู่ใน 188 ประเทศแห่งนี้  ได้ตั้งเป้าหมายที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 ผ่านหลายการดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ต้องประเมิน Carbon Footprint (การปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ การจัดหาวัตถุดิบการเกษตร ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ก่อนถึงมือผู้บริโภค 

“การวัด Carbon Footprint ของเนสท์เล่ คำนวณจากปีฐาน (ปี 2018) พบว่า เนสท์เล่ทั่วโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 92 ล้านตันคาร์บอน โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 มาจากวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น การเลี้ยงวัว เพราะบริษัทมีสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นม และโกโก้ อันดับ 2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากบรรจุภัณฑ์” 

ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ระบุว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรจุภัณฑ์  ได้นำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้  โดยเนสท์เล่ให้ความสำคัญใน 2 เรื่อง คือ 1.บรรจุภัณฑ์ต้องรีไซเคิลได้ตั้งแต่สารตั้งต้น โดยตั้งเป้าจะไปให้ถึง 100% ให้มากที่สุด และ 2.การลดการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic)ในการผลิต โดยเนสท์เล่ทั่วโลกตั้งเป้าว่า 1 ใน 3 ของพลาสติกที่ใช้ต้องมาจากพลาสติกรีไซเคิลในปี 2025  

ขณะที่ในไทยปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์ 95 % สามารถรีไซเคิลได้ แม้แต่ซองไอศกรีมหลายรายการ ล่าสุดน้ำดื่มมิเนเร่ ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกรีไซเคิล ( rPET) เป็นแบรนด์น้ำดื่มแรกในไทย   

“อยากจะบอกว่าการทำเรื่องเหล่านี้ ไม่มีใครทำครั้งแรกก็สำเร็จเลย กว่าจะมาถึงวันนี้เราก็ล้มลุกคลุกคลานมาหลายเวอร์ชั่น โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆกับลงมือทำ เพราะเรื่อง Climate Change  จะมีเรื่องใหม่อยู่ตลอด และไม่ใช่เรื่อง Should Do แต่เป็นเรื่อง Must Do และเป็นเรื่องหลายภาคส่วนต้องมาร่วมกันทำ ให้เกิดเป็นภาพใหญ่ สุดท้ายเมื่อองค์กรทำแล้ว ในส่วนของผู้บริโภค (ตลาด) ก็ต้องตอบรับ ถ้าผู้บริโภคไม่ตอบรับ เศรษฐกิจหมุนเวียนก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ขณะเดียวกันกฎหมายก็ต้องเอื้อให้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้” สลิลลา กล่าว 

**รีไซเคิลวัสดุก่อสร้าง เคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

“อุตสาหกรรมก่อสร้าง” เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างมาก โดย ณภัทร สุพัฒนกุล  Senior Vice President of MQDC กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน โดยตั้งเป้าเป็นองค์กร “Nature Positive Carbon Negative” ในปี 2050  พร้อมให้ข้อมูลว่า วัสดุ (material) ทั่วโลก และขยะทั่วโลก สัดส่วน 40%  มาจากวัสดุและขยะจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก 40%  มาจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวของกับการก่อสร้าง โดยเฉพาะคอนกรีต และเหล็ก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องร่วมมือกันลดปัญหานี้ 

โดยที่ผ่านมา MQDC ได้นำ “วัสดุก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล)” ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำหัวเสาเข็มมารีไซเคิล (recycle concrete pile)  และนำขยะพลาสติกมาหลอมทำยางมะตอย (plastic asphalt road) ปูถนนในบางโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท 

“เวลาตอกเสาเข็ม จะมีหัวเสาเข็มที่ถูกตัดออกจำนวนมาก เมื่อก่อนต้องทิ้ง เป็นส่วนหนึ่งของ 40% ที่มาจากขยะก่อสร้าง เราก็หาวิธีนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการบดแล้วนำเข้าสู่การผลิตคอนกรีตอีกครั้ง ทำให้ลดขยะส่วนนี้ลงได้ 200 ตัน ขณะที่การทำ plastic asphalt road ที่ผ่านมาใช้ขยะพลาสติกมากถึง 12 ตันในการดำเนินการ เหล่านี้คือความสำเร็จของการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ยังคงมีต้นทุนสูงเพราะเป็นรายเดียวที่ทำ ในอนาคตถ้าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ร่วมมือกันทำเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่คอนกรีต อาจรวมถุงปูน และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ รวบรวมได้มากพอสเกลใหญ่ขึ้น จะทำให้การจัดการของเสียในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนได้มากขึ้น”  ณภัทร ระบุ

นอกจากนี้ยังมองว่า ในการลดโลกร้อนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การหาวัสดุที่ไม่ใช่ซีเมนต์ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะ “ไม้” ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าคอนกรีต และไทยมีไม้โตเร็วที่ปลูกเป็นป่าเศรษฐกิจ ขณะที่การออกกฎหมายที่เหมาะสม มีมาตรการจูงใจด้านภาษี เชื่อว่าจะเป็น “ตัวเร่ง” การดำเนินการในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

*ลดโลกร้อน โอกาสธุรกิจใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์

มาที่ “อุตสาหกรรมยานยนต์” สุจิตร์ ปั้นวงศ์ไพบูลย์ Executive Vice President  บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ความร่วมมือในการลดโลกร้อนของทุกภาคส่วน จะนำไปสู่โอกาสธุรกิจใหม่ (New Business) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น ธุรกิจการบริหารจัดการ (รีไซเคิล) รถเก่าพ้นสภาพการใช้งาน ซึ่งประเมินว่า ในระยะ 10 ปีจากนี้ จะมี รถเก่า (เครื่องยนต์สันดาป และระบบไฟฟ้า EV) จะต้องออกจากระบบ (อายุใช้งานเกิน 10 ปี) เป็นจำนวนมากถึง 21 ล้านคัน ซึ่งหากบริหารจัดการรถจำนวนนี้ไม่ดีพอ ย่อมทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

“ตัวเลขนี้ตื่นตาตื่นใจพอสมควร เพราะจะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา รถอายุมากขึ้น ระบบการทำงานของเครื่องยนต์ที่เสื่อมลงจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น ขณะที่การบำรุงรักษารถเก่าจะมีค่าใช้จ่ายสูง โดยประเทศญี่ปุ่นถือว่าประสบความสำเร็จในการรีไซเคิลรถยนต์ได้ถึง 99% นำวัสดุกลับมาใช้ได้หมด เช่น เหล็ก อลูมิเนียม พลาสติก โลหะวัตถุ ขณะที่ถุงลมนิรภัย (มีสารกำจัดยาก) สามารถนำกลับมาใช้ได้ถึง 95-96% ถือว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เอาอยู่ในเรื่องมลภาวะจากรถเก่าพ้นสภาพการใช้งาน” สุจิตร์ เผย

โดยในไทย บริษัทได้รับเงินสนับสนุนจาก NEDO (The New Energy and Industrial Technology Development Organization) ประเทศญี่ปุ่น ในการบริหารจัดการรถเก่าพ้นสภาพการใช้งาน จัดตั้งเป็นบริษัทในชื่อ บริษัท Green Metal (Thailand)  สามารถรีไซเคิลรถเก่าได้เดือนละ 500 คัน (นำวัสดุกลับมารีไซเคิลได้เดือนละ 20,000 เมตริกตัน) ซึ่งยังน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณรถเก่าพ้นสภาพการใช้งานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาการดำเนินการ คือ ใครจะเป็นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลรถเก่า ระหว่าง ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ใช้รถยนต์ หรือซัพพลายเชนอื่นๆ ขณะเดียวกันกฎหมายยังมีความซับซ้อนและซ้ำซ้อน เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ต้องควรทำให้รวมศูนย์ เพื่อเอื้อให้การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม 

ขณะที่ พรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ระบุว่า สถาบันแห่งนี้ทำเรื่องการจัดการบรรจุภัณฑ์ฯมานานกว่า 17 ปี จากประสบการณ์ทำงานเห็นว่า แต่ละองค์กรธุรกิจต่างมีโครงการจัดการสิ่งแวดล้อมของตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่จะเป็น “ตัวเร่ง” ความสำเร็จของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ “การทำงานร่วมกัน” เป็นภาพใหญ่ระดับอุตสาหกรรม  

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การออกกติกาของรัฐ ต้องมาจากข้อเท็จจริงที่ปฏิบัติได้จริง ประเมินให้ชัดเจนว่าระบบนิเวศ (Ecosystem) เรื่องการจัดการบรรจุภัณฑ์เกี่ยวข้องกับใครบ้าง และดำเนินการไปทั้งระบบตั้งแต่ต้นทาง อย่างมีส่วนร่วม โดยจำเป็นต้องมีเป้าหมายและกติการ่วมกันที่ชัดเจน ขณะที่กฎหมายที่จะออกมา เห็นว่าควรเน้นไปที่การส่งเสริมและสนับสนุน ค่อยตามมาด้วยการกำกับ เพื่อ “สร้างแรงจูงใจ” ให้กับภาคธุรกิจและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเรื่องนี้  

“เรื่อง Circular Economy  ไม่ใช่งานการกุศล แต่คือความอยู่รอดของธุรกิจ ต้องร่วมกันทำโดยองค์กรธุรกิจ ไม่ใช่ทำโดยสาธารณะ และ Ecosystem ต่างๆต้องเอื้อให้ดำเนินการได้ด้วย” เธอทิ้งท้าย 

และนี่คือการถอดบทเรียน 3 องค์กรใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจในไทย ถึงแนวทางที่เป็นรูปธรรม และปัญหา-อุปสรรค ในการเร่งเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน แก้ไขปัญหาโลกร้อน สะท้อนว่า แต่ละองค์กรตระหนักถึงผลกระทบ และได้เดินหน้าเรื่องเหล่านี้ แต่ต้องการให้รัฐปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อ สร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ยังต้องการความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้าง Ecosystem ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ รวมถึงการตอบรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากผู้บริโภค

หากทำได้เช่นนั้น นอกจากช่วยบรรเทาวิกฤตสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็น “โอกาส” สำหรับธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นอย่างกระจายตัว เกิดประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) สร้างความยั่งยืนต่อโลก ต่อธุรกิจไปพร้อมกัน


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *