จัมโบ้ จั๊มพส์ – ดีป้า เดินหน้าจัด Soft-power Up!ทำเกมเสริมอัตลักษณ์ไทยเพื่อไปบุกตลาดโลก กรณีศึกษา “Project REGULUS”มุ่งยกระดับทักษะผู้ประกอบการเกมไทย เตรียมพร้อมสู่การแข่งขันในระดับสากล


บริษัท จัมโบ้ จั๊มพส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบสตูดิโอพัฒนาเกมสัญชาติไทย ผนึก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เดินหน้าจัดงานเสวนา Soft-power Up! ทำเกมเสริมอัตลักษณ์ไทยเพื่อไปบุกตลาดโลก กรณีศึกษา “Project REGULUS” พร้อมยกขบวนวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมมอบสาระความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกมไทยให้กับผู้ประกอบการและเยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่าน PROJECT REGULUS ที่บริษัทจัมโบ้จั๊มพส์ พัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์สำคัญอย่าง TV TOKYO เพื่อตอกย้ำจุดยืนในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมเกมไทย ให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงกับผู้ประกอบการระดับสากล ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายมานะ ประภากมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัมโบ้ จั๊มพส์ จำกัด เปิดเผยว่า “ทางบริษัทฯ มีความมุ่งหวังที่จะผลักดันอุตสาหกรรมเกมให้กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย (Creative Economy) โดยเผยแพร่อัตลักษณ์-วัฒนธรรมที่โดดเด่นของไทย (Soft Power) ผ่านการพัฒนาเกมที่มีเป็น IP เป็นของตัวเองเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก พร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้วยเหตุนี้ บริษัท จัมโบ้ จั๊มพส์ จำกัด จึงได้จัดงานเสวนาขึ้นในครั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ และประสบการณ์ของการพัฒนาเกมที่หยิบยกนำเอาอัตลักษณ์ไทยเข้าไปอยู่ในเกมแนวแฟนตาซีสไตล์อนิเมะผ่าน PROJECT REGULUS เกมในรูปแบบ RPG แอคชั่นเทิร์นเบส ที่บริษัทจัมโบ้จั๊มพส์ พัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์สำคัญอย่าง TV TOKYO ซึ่งเป็นเกมที่เรานำมาเป็นกรณีศึกษา งานเสวนาในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นิสิต นักศึกษา บุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเกม และบุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับการทำเกม ได้รับความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกมไทยที่ทันสมัย พร้อมอัปเดตเทรนด์เกี่ยวกับวงการเกมทั้งไทยและต่างประเทศที่น่าสนใจ” นายมานะกล่าว

ด้าน นายจุลนภ ศานติพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “อุตสาหกรรมเกมถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่ง ดีป้า เล็งเห็นโอกาสและมุ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมเกมสามารถเติบโตได้อย่างเป็นระบบ ภายใต้แผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศโดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถ มอบโอกาส พร้อมวางรากฐานความเป็นมืออาชีพให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงนักศึกษา และประชาชนที่สนใจผ่านกลไก และโครงการต่าง ๆ”

สำหรับงานเสวนา Soft-power Up! ทำเกมเสริมอัตลักษณ์ไทยเพื่อไปบุกตลาดโลก กรณีศึกษา “Project REGULUS” มีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ อาทิ การส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับให้ผู้ประกอบการเกมไทย ได้แสดงศักยภาพและพัฒนาฝีมือสำหรับการแข่งขันในระดับสากล รวมไปถึงขยายโอกาสในการเติบโตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกมไทย โดย คุณจุลนภ ศานติพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, การเสริมจุดแข็งให้กับเกมโดยใช้ SOFT POWER ของไทย โดย คุณศุภฤกษ์ มนตรีสุขศิริกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท จัมโบ้ จั๊มพส์ จำกัด ซึ่งจะเล่าถึงแนวทางของการพัฒนาเกมที่อาศัยองค์ประกอบทางวัฒนธรรมเพื่อมาสร้างเอกลักษณ์ที่จะช่วยให้เกมมีความโดดเด่นและเป็นที่จดจำยิ่งขึ้น, PROJECT REGULUS : แนวคิดและกระบวนการนำ SOFT POWER มาเป็นส่วนประกอบหลักของเนื้อหาเกม โดย คุณกมลภัทร ศิริวงศ์ ณ อยุธยา โปรดิวเซอร์ และคุณสหทัศน์ ฉัตรวิริยะกุล ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ บริษัท จัมโบ้ จั๊มพส์ จำกัด  อธิบายถึงเนื้อหาหลักของเกมที่กำลังพัฒนากันอยู่ และวิธีการเลือกสรร SOFT POWER มาผสมผสานเข้ากับเนื้อเรื่องและองค์ประกอบส่วนต่าง ๆ ภายในเกม PROJECT REGULUS, งานออกแบบ และ การปรับแต่ง (Adaptation) อัตลักษณ์-วัฒนธรรมไทยเพื่อให้เข้ากับเนื้อหาของ PROJECT REGULUS โดย คุณสุทธิพงษ์ กันธิมูล อาร์ท ไดเรคเตอร์ บริษัท จัมโบ้ จั๊มพส์ จำกัด ที่มาแบ่งปันกลยุทธ์ในการปรับเกมที่มีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมไทยสำหรับตลาดระดับโลก ตลอดจนการให้ความสำคัญของการสมดุลทางวัฒนธรรมไทยกับโลกของเกมให้ออกมาเป็นโลกแฟนตาซีโดยมีอัตลักษณ์-วัฒนธรรมที่โดดเด่นสอดแทรกได้อย่างลงตัว

ทั้งนี้ PROJECT REGULUS ที่นำมาเป็นกรณีศึกษาในงานเสวนา ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และจะพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในปี 2567 ผู้ที่สนใจสามารถติดตามงานเสวนา ข่าวสาร และกิจกรรมดี ๆ จากบริษัท จัมโบ้ จั๊มพส์ ได้ที่เฟซบุ๊ก Jumbo Jumps: www.facebook.com/JumboJumpsCompany และเว็บไซต์ www.jumbojumps.com


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *