ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ประกาศคำสั่ง เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาตรา 17 ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.
2558 กำหนดห้ามนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ที่เข้าไปเที่ยวในบริเวณแนวปะการังนำหรือใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีสารเคมีอันเป็นอันตรายต่อปะการังในพื้นที่ต่างๆ กระทั่งปี 2565 กรม ทช. ร่วมกับบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้หารือถึงแนวทางการดำเนินการลดการใช้สารต้องห้ามตามที่กำหนดในผลิตภัณฑ์ของบริษัท และเพื่อสนับสนุนมาตรการประกาศดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยกเลิกการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อปะการังในผลิตภัณฑ์กันแดดเพื่อรักษาแนวปะการังและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565
ทั้งนี้ เบื้องต้น ตนได้รายงานผลการดำเนินงานให้พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้รับทราบ พร้อมกันนี้ รมว.ทส. ได้กำชับให้กรม ทช. เดินหน้าสานต่อโครงการดังกล่าวและสนับสนุนตามบันทึกข้อตกลงฯ ที่ทำร่วมกันให้ประสบความสำเร็จ โดยกรม ทช. ได้มอบหมายให้กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (กอท.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สวพ.) รับผิดชอบประสานงานและดำเนินการขยายผลในพื้นที่แนวปะการังสำคัญของประเทศและพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตร ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ของกรม ทช. อาทิ การดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การดำน้ำเก็บขยะใต้ท้องทะเล การดำน้ำสำรวจระบบนิเวศใต้ท้องทะเล และการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการัง เป็นต้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อปฏิบัติในการลดใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และในวันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2567) ตนได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้บริหารจากบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด นำโดยคุณปราการ สท้านโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับเป็นประธานในการหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานและติดตามผลงานด้านการสนับสนุนกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนรับทราบแนวทางการดำเนินโครงการฯ ในปี 2567 โดยมีนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และนางสาวอาทิตา จุ้ยจู่เอี้ยม เลขานุการกรม ตลอดจนผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทช. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรม ทช.
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรม ทช. ได้ทำหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลภายใต้ภารกิจการบังคับมาตรการทางกฎหมายและดำเนินการตามประกาศกระทรวงฯ รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือกับเครือข่ายผู้ประกอบการในการดูแลแนวปะการัง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามสร้างรายได้ให้กับประเทศ สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณบริษัท เบทเตอร์เวย์ ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พร้อมกับยกเลิกผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีสารเคมีอันเป็นอันตรายต่อปะการัง พร้อมทั้งสนับสนุนครีมกันแดดและสิ่งของที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทางทะเล และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกรม ทช. อีกทั้งจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ “ข้อปฏิบัติในการท่องเที่ยวทางทะเลและดำน้ำบริเวณแนวปะการัง” และเสื้อปฏิบัติการใต้น้ำ จำนวน 200 ตัว รวมถึงมอบเงินสนับสนุนโครงการ “มิสทินร่วมใจรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการังแหล่งท่องเที่ยวของไทย” เป็นจำนวนเงิน 1,750,000 บาท เพื่อให้ทางกรม ทช. นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะและการปฏิบัติหน้าที่ในภาคพื้นทะเลอีกด้วย “ดร.ปิ่นสักก์ อธิบดี ทช. กล่าวทิ้งท้าย”
ด้าน คุณปราการ สท้านโยธิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันแดดให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพถูกต้องตามกฎขององค์การอาหารและยามาโดยตลอด จากความตั้งใจและแน่วแน่ในการสนับสนุนภารกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จับมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือยกเลิกการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อปะการังในผลิตภัณฑ์กันแดด เพื่อรักษาแนวปะการังและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เริ่มดำเนินโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ปี 2567 บริษัทฯ ได้มีการหารือถึงการวางแผนร่วมกันในการจัดทำโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึก การอนุรักษ์ ฟื้นฟูการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปะการัง เพื่อดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการจัดฝึกอบรมพัฒนาบุคคลากรเพื่อปฏิบัติงานทางด้านปะการัง และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดให้กับกรมภายใต้ชื่อโครงการ “มิสทินร่วมใจรักษ์ฟื้นฟูแนวปะการังแหล่งท่องเที่ยวของไทย” รวม 9 กิจกรรม โดยบริษัทฯ มีแผนจะสนับสนุนโครงการภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี
เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินงานของบริษัทฯ ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศชาติ ซึ่งเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นสมบัติของชาติและลูกหลานของเราทุกคน ต่อไป