Exclusive Interview: “คน ความรู้ และเทคโนโลยี” ต่อฐานเติมยอดสร้าง “การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”


โดย : คุณธานินทร์ ทิมทอง ประธานเจ้าหน้าที่สายความยั่งยืนทางสังคม
บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ LEARN Corporation

คุณธานินทร์ ทิมทอง ประธานเจ้าหน้าที่สายความยั่งยืนทางสังคม
บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ LEARN Corporation

“กว่า 18 ปี จากประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษา หมุดหมายสำคัญของเรา คือ อยากช่วยเหลือผู้คน ซึ่ง ‘การศึกษาถือเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้คนหลายคนได้รับการพัฒนาและมีชีวิตที่ดีขึ้น’ โดยเราเชื่อว่า รากเหง้าของการศึกษาไม่ใช่แค่อยู่ภายในห้องเรียนเท่านั้น ตรงนี้ทำให้เรามองไปถึงภาพการศึกษาแบบ Lifelong Learning เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวด้วยความท้าทายในยุคนี้” นายธานินทร์ ทิมทอง ประธานเจ้าหน้าที่สายความยั่งยืนทางสังคม บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยถึงจุดเริ่มต้นของ LEARN Corporation

นายธานินทร์ กล่าวว่า “ถ้าเราพูดถึงเรื่องการศึกษา เราจะนึกเรื่องห้องสี่เหลี่ยมกับกระดานดำ แต่ตอนนี้เด็กสามารถนั่งเรียนที่ไหนก็ได้ มีแท็บเล็ตตัวเดียว แต่สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่เป็นระดับประเทศหรือระดับโลกได้เลย การเรียนรู้เรียกว่าแทบจะอยู่ทุกที่ รวมทั้งผู้ใหญ่เอง โดยขณะนี้ไม่ใช่แค่การเรียนจบปริญญาตรีหรือปริญญาโท แต่ ‘การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา’ ถือเป็นกุญแจสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญในการศึกษา จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง LEARN Corporation ซึ่งวันนี้ถือเป็นองค์กร EdTech หรือเทคโนโลยีด้านการศึกษาที่เริ่มต้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน จากกวดวิชา OnDemand โรงเรียนกวดวิชาแบบออนไลน์ ก่อนจะต่อยอดจุดแข็งและองค์ความรู้ทางด้านการสื่อสารการศึกษาผ่านทางเครื่องมือนวัตกรรมจนเติบโตขึ้นเป็นลำดับมาจนถึงปัจจุบัน”

เราวางกรอบแนวคิดที่ว่า ‘ทำอย่างไรให้เด็กเรียนแล้วสนุก เข้าใจ แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้’ โดยสามองค์ประกอบที่ต้องทำงานไปด้วยกันเพื่อให้การเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์เป็นไปได้อย่างดี ประกอบไปด้วย คน ความรู้ และเทคโนโลยี ทั้งหมดเชื่อมโยงสู่การสร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดเวลาได้อย่างไม่สิ้นสุด เริ่มต้นจากครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ ความรู้ความเข้าใจในบทเรียน และที่สำคัญคือสามารถสื่อสารและถ่ายทอดผ่านการออกแบบการเรียนรู้ที่ทำให้เข้าถึงนักเรียนได้ง่ายขึ้น แล้วเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือที่นำพาและจัดการข้อมูลเหล่านี้ให้ไปถึงนักเรียนได้อย่างง่ายดายขึ้น นายธานินทร์ ขยายความพร้อมบอกเล่าต่อไปว่า

“เราใช้ EdTech มาช่วยผลักดันให้เราก้าวไปเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดการศึกษา ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาการศึกษาอย่างไร้รอยต่อสำหรับทุกวัย ผ่านการสร้างแพลตฟอร์ม Learn Anywhere แอปพลิเคชันเรียนออนไลน์ที่รวบรวมคอนเทนต์จากธุรกิจกลุ่ม Out-School ไว้ในที่เดียว พร้อมกันนี้ยังได้บริหารงานและจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน ภายใต้ธุรกิจกลุ่ม Chain Shcool โดยได้ริเริ่มที่โรงเรียนเลิร์น สาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม หรือ LSP School (Learn Satit Pattana School) ที่มากไปกว่านั้นสำหรับผู้เรียนวัยทำงานเรายังมีธุรกิจกลุ่ม Professional&Skills รองรับ โดยมุ่งพัฒนาทักษะใหม่แห่งอนาคตให้กับวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะตัวเองให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานโลก เช่น คอร์สออนไลน์ OKRs: The Complete Guide, UX Fundamentals, Customer Journey Mapping, Digital Business Starter Pack เป็นต้น”

นายธานินทร์ กล่าวต่อไปว่า “นอกจากพัฒนาการศึกษาไทยแล้ว การพัฒนาสังคมก็เป็นเรื่องเดียวกันด้วย” อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา LEARN ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและสนับสนุนภาคการศึกษาให้กับภาคสังคม หรือ (Social Enterprise) ผ่านการจัดตั้ง Learn Education แพลตฟอร์มสื่อและเนื้อหาสนับสนุนการสอนในโรงเรียน ที่ใช้เทคโนโลยี Online Blended Learning Solution หรือการเรียนการสอนออนไลน์แบบผสมผสานระหว่างนักเรียนและครูในห้องกับครูในจอ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแล้วมากกว่า 500 โรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำโครงการ Learn CSR School ที่เข้าถึง 200 โรงเรียนกับนักเรียนกว่าหนึ่งแสนคน โครงการทุนเปลี่ยนชีวิต จำนวนมากกว่า 5,000 ทุน และทุนฯ สาธิตพัฒนา 120 ทุน

“เทคโนโลยีการเรียนรู้แบบไร้ข้อจำกัดในปัจจุบันช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เราเชื่อว่าการทำงานทั้งจาก Bottom-up สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ให้มากเท่าที่เราทำได้ และ Top-down จะเปลี่ยนโฉมหรือฐานรากที่สำคัญของภาคการศึกษาไทยให้เกิดความเท่าทัน และเปิดกว้างการศึกษาให้เข้าถึงทุกคน ทุกช่วงเวลา และทุกช่วงวัยอย่างเท่าเทียม ฉะนั้นไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าเรามีความสุขที่จะไปเรียนรู้ ไม่ใช่เป็นภาระที่จะไปขวนขวาย เราก็จะสนุกด้วย และเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงและสร้างประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน” นายธานินทร์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *