Green Energy เตรียมตัวให้พร้อมก่อนซื้อรถ EV มาใช้


ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องของ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือ Electric Vehicle ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันหลากหลายบริษัทพัฒนายานยนต์ชนิดดังกล่าวเข้าสู่ตลาด และแน่นอน ความทันสมัย รวมทั้งประโยชน์ต่อโลกที่ไม่พ่นมลพิษออกมา กลายเป็นเทรนด์ในอนาคตอันใกล้ ที่คาดว่า ทุกคนต้องมี

               แต่ทว่า การซื้อรถไฟฟ้า หลายคนอาจคิดว่า ชาร์จที่บ้าน ลดค่าน้ำมันได้แน่นอน อยากให้ทุกคนฉุกคิดสักนิด เพราะรถ EV นั้นก็มีอีกหลากหลายเรื่องราวที่เราต้องศึกษาก่อนถอยมาขับ เพราะไม่เช่นนั้นอาจชาร์จไฟที่บ้านไม่ได้ วันนี้  Green Energy จึงขอสรุปเรื่องที่ควรรู้ก่อนซื้อ EV มาชาร์จไฟที่บ้าน โดยมีรายละเอียดดังนี้

               ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระบุว่า บ้านของเราส่วนใหญ่จะเป็นระบบไฟเฟส 1 โดยมี 15(45) แอมป์ หรือรับการใช้กระแสไฟฟ้าพร้อมกันได้สูงสุดที่ 45 แอมป์ แต่ทว่ายานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันบางแบรนด์ ตัวชาร์ตที่ติดตั้งที่บ้าน จะใช้กับระบบไฟ 3 เฟสเท่านั้น ถ้าเราใช้ไฟ 1 เฟส ก็ต้องไปแจ้งการไฟฟ้าขอเปลี่ยนเป็น 3 เฟส

               ต่อมาเมื่อเรามีรถไฟฟ้า ซึ่งต้องชาร์ตแบต เราต้องมาคำนวณว่า แอมป์ บ้านเราพอรึป่าว เช่น ตัวชาร์ตสำหรับรถบางรุ่นสามารถชาร์ตไฟได้ 7 KW แปลว่า ทุกๆชั่วโมงจะชาร์ตไฟจะต้องใช้แรงดัน(วัตต์) 7,000 วัตต์ หรือคิดเป็นไฟ 7 หน่วย บ้านเราใช้ไฟ 220 โวลล์ เอาวัตต์ หาร โวลล์ ก็จะได้ค่าแอมป์ 7,000/220 = 31.81 แอมป์ จะเห็นว่า ถ้าเราไม่ได้ชาร์ตรถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เรามีตู้้เย็น เปิดแอร์หลายเครื่อง 45 แอมป์ อาจจะไม่พอยิ่งถ้าวางแผนว่าในอนาคตอาจจะมีรถไฟฟ้ามากกว่า 1 คัน 15(45) แอมป์ ไม่พอแน่ๆ

               การขอไฟ 3 เฟส แบบ 30(100) แอมป์ ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่าย 1,605 – 749 = 856 บาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพอขอเปลี่ยนระบบไฟกับการไฟฟ้าเสร็จ เราต้องมาเปลี่ยนสายไฟที่เดินจากเสาไฟเข้ามาในบ้านด้วย ไฟ 3 เฟส ก็จะต้องเดินสายไฟเพิ่มอีก 2 สาย ถ้าเป็น 30(100) แอมป์ ก็ต้องเปลี่ยนขนาดสายไฟเข้าบ้านใหม่หมด ให้เป็นสายไฟที่หนาขึ้น เพื่อรองรับไฟที่สามารถสูงถึง 100 แอมป์ รวมถึงต้องเปลี่ยนระบบเบรกเกอร์ที่บ้านด้วยและสายไฟ ที่ออกจากเบรกเกอร์มาที่จุดชาร์ตก็ต้องเป็นสายไฟที่สามารถรองรับกระแสไฟที่มากตามสเปคด้วย

               ที่ขอเตือนเลย คือ ถ้าซื้อรถ EV มาแล้ว เสียบปลั๊กมั่วซั่วไปเรื่อยไฟไหม้บ้านแน่นอนครับ อีกจุดที่น่าสนใจคือ เรื่องมิเตอร์ TOU (Time Of Use) ซึ่งมิเตอร์ TOU แบบ 3 เฟส จะมีค่ามิเตอร์อยูที่ 5,340 บาท

               ฉะนั้นหากต้องการใช้ EV อาจจะต้องลงทุนเพิ่มเติม อาทิ ติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านด้วย แล้วไปขอเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU โดยมิเตอร์ TOU จะมีวิธีคิดค่าไฟ แตกต่างกันตามช่วงเวลาในช่วง PEAK วันธรรมดา เก้าโมงเช้า ถึงสี่ทุ่ม ค่าไฟจะแพง หน่วยละ 5.79 บาท แต่แลกกับช่วง Off Peak วันธรรมดาหลังสี่ทุ่มถึงเก้าโมงเช้ากับวันเสาร์ อาทิตย์ ทั้งวันทั้งคืนค่าไฟจะเหลือแค่ หน่วยละ 2.63 บาท แปลว่า ถ้าเราติดโซลาร์ในระดับที่พอกับการใช้ไฟในตอนกลางวันของเราช่วงเก้าโมงเช้า ถึง ห้าโมงเย็น แม้ค่าไฟจะแพง แต่เราก็ไม่ได้ใช้ เราใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์ เราจะใช้ค่าไฟแพงแค่ช่วงที่แดดหมด

               ลองคิดดูว่า หลังสี่ทุ่ม เราชาร์ตรถ EV เสียค่าไฟแค่หน่วยละ 2.63 บาท มันจะประหยัดขนาดไหน เช่น MG ZS EV แบตขนาด 44.5 kwh หรือ 44.5 หน่วย ตามสเปค วิ่งได้ 337 กิโล ถ้าชาร์ตเต็มในช่วง Off Peak จะเสียเงินแค่ 117 บาทตกกิโลละ 34 สตางค์ เท่านั้นเอง

               ฉะนั้นแล้ว เรื่องของรถ EV ก่อนซื้อมาใช้ประโยชน์ เราก็ต้องเตรียมพร้อม ทั้งระบบไฟ การเสริมส่วนต่างๆ ภายในบ้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แน่นอนในระยะแรก คือ การลงทุน มองในระยะยาว คุณอาจมีรถ EV เพิ่มอีกคันก็ได้ เพราะบ้านของคุณพร้อมเป็นแหล่งพลังงาน


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *