วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กรมควบคุมมลพิษ และองค์กรความร่วมมือต่าง ๆ ร่วมกับ ศูนย์ความรู้ระดับภูมิภาคเกี่ยวกับขยะพลาสติกทะเล (RKC-MPD) หน่วยงานภายใต้สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) จัดงานสัมมนาการพัฒนาสู่ประเทศไทยไร้ขยะ: การลดและเลือกใช้วัสดุทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและสร้างจิตสำนึกต่อปัญหาขยะพลาสติก รวมถึงแลกเปลี่ยนและแบ่งปันแนวปฏิบัติการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสัมมนานี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 300 คน จากกว่า 10 ประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา
คุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่าในปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเกือบ 25 ล้านตัน แม้ว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 32 แต่ยังมีขยะส่วนหนึ่งที่กำจัดอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะขยะพลาสติก ประเทศไทยจึงต้องเร่งปฏิบัติการตาม Roadmap และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 พ.ศ. 2563-2565 ที่มีเป้าหมายในการลดพลาสติกเป้าหมายตั้งแต่การผลิต การบริโภค และหลังการบริโภค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน แม้ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายที่ชัดเจน แต่ภาครัฐยังเดินหน้าให้ข้อมูลและกระตุ้นประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อลดการใช้พลาสติก ส่งเสริมออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ด้วยพลาสติกเป็นวัสดุที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน แต่พลาสติกหลังการใช้งานได้หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่พบในทะเลและชายหาดมากกว่าขยะอื่น การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ซึ่งมีแผนปฏิบัติการในช่วง ปี พ.ศ. 2564-2570 ก็จะช่วยส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนในทุกระดับ ซึ่งสอดคล้องกับ Roadmap จัดการขยะพลาสติกของประเทศ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและง่ายต่อหมุนเวียน ผลักดันบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือก และสนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
คุณสมจิตต์ นิลถนอม ผู้จัดการโครงการ AEPW-Thai PPP Rayong กลุ่ม PPP Plastics กล่าวถึง PPP Plastics ว่าเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติกในประเทศไทย และลดการหลุดรอดของพลาสติกสู่ทะเล โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร คือ ระยองโมเดล ที่มีเทศบาลเข้าร่วม 68 แห่ง ขณะที่พื้นที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นเกาะในฝั่งทะเลอันดามัน ก็เริ่มมีปฏิบัติการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว อย่างกรณี ร้าน Sri The Shophouse ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งคุณบิว คิม เจ้าของร้าน เล่าให้ฟังว่าไม่ใช้ภาชนะพลาสติกตั้งแต่เปิดร้านเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เนื่องจากหาซื้อภาชนะทางเลือกได้ง่ายและราคาใกล้เคียงกับภาชนะพลาสติก เช่นเดียวกับหลายร้านในย่านเมืองเก่าภูเก็ต แต่ก็ยังต้องการหาภาชนะทางเลือกมาใช้แทนถุงร้อนซึ่งยังใช้อยู่ แม้จะใช้ไม่มากก็ตาม อันที่จริงแล้วจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งในโครงการ CAP-SEA ขององค์กร GIZ คุณนภาพร อยู่เบิก ที่ปรึกษาและผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันได้ร่วมกับหน่วยงานจากหลายภาคส่วน นำร่องเพื่อลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในภูเก็ต การหาทางเลือกในการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การใช้ภาชนะสำหรับการส่งอาหารแบบ Food delivery ที่นำกลับมาใช้ใหม่ ผ่านธุรกิจสตาร์อัพและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สำหรับภาคเอกชน นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อแบรนด์ “เกรซ” กล่าวถึงอันตรายจากภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ว่ามีผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและก่อให้เกิดปัญหาขยะที่ย่อยสลายยาก แล้วยังต้องสูญเสียงบประมาณในการกำจัดขยะ ดังนั้น จึงมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์เกรซซึ่งพัฒนาจากเยื่อพืชธรรมชาติ อาทิ เยื่อชานอ้อย เยื่อไผ่ ฟางข้าว และเยื่อพืชธรรมชาติอื่น ๆ กระทั่งมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งาน สะอาด ปลอดภัย และไม่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อม ในทำนองเดียวกัน บริษัทเอกชนเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากขึ้น Mr. Susawee Ondam ผู้จัดการอาวุโส บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้มีการปฏิบัติตามหลักการความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) โดยมีการรวมตัวกันเพื่อรวบรวมขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ พัฒนาต้นแบบการเก็บขนขยะที่ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย พัฒนานวัตกรรมการรีไซเคิลและนวัตกรรมในการลดขยะ โดยยึดหลักการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจนถึงการจำหน่าย และการสร้างความร่วมมือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
Mr. Michikazu Kojima นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ RKC-MPD ERIA กล่าวย้ำถึงบทบาทของภาคเอกชนในการลดปัญหาขยะพลาสติก ว่าเอกชนมีศักยภาพในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นอกเหนือจากการลดมลภาวะจากพลาสติก ซึ่งบริษัทเพียงบริษัทเดียวไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทั้งหมดได้ ขณะเดียวกันภาคเอกชนยังคงต้องการข้อมูล เช่น เทคโนโลยี วัตถุดิบ อุปกรณ์ และการขยายลูกค้าของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ERIA จึงได้พัฒนาเว็บไซต์สำหรับบริษัทเอกชนเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีขึ้น และสร้างพันธมิตรเพื่อความยั่งยืน