Exclusive interview:ปี 66 ปักหมุดไทย “ปีแห่งการท่องเที่ยว” ใช้กลยุทธ์ “Meaningful Travel” และหลักการ SDGs หวังเชื่อมใจสร้างท่องเที่ยวไทยด้วยคุณภาพ มุ่งสู่ความยั่งยืนโดย : คุณจิระวดี คุณทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)


การท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวเเละกีฬา มีภารกิจส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นที่นิยม ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ว่า ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย ในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งในวันที่ 18 มีนาคม ปีนี้ถือเป็นวันครบรอบวันสถาปนา เเละททท. เองครบรอบ 63 ปี  ททท. ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้เป็นหมุดหมายในดวงใจของนักท่องเที่ยว เเม้ว่าที่ผ่านมาจากวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวเหมือนเคย ทุกประเทศได้รับผลกระทบ เเต่เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยไม่หยุดชะงัก ททท. เองได้ผลักดันโครงการสำคัญที่นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคน ททท. เป็นอย่างมาก นั่นก็คือ ภูเก็ตเเซนด์บ๊อกซ์ (Phuket Sandbox) โครงการที่ช่วยให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย สามารถเดินทางเข้ามาได้โดยต้องได้รับวัคซีนครบโดส เเละเดินทางมาพักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสำเร็จเเละใช้ไปตั้งเเต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้น ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการเผยถึงภาพรวมการดำเนินงานเเละภารกิจที่สำคัญของ ททท. ที่ผ่านมา 

คุณจิระวดี เล่าต่อว่า หนึ่งในส่วนงานที่สำคัญในองค์กรที่จะคอยสนับสนุนภารกิจ เเละวิสัยทัศน์ ขององค์กรตลอดจน ผู้ว่าการการท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทยผู้นำขององค์กร ททท. ให้สำเร็จมาได้อย่างต่อเนื่อง คงหนีไม่พ้น สำนักผู้ว่าการ หน่วยงานที่สนับสนุนงานของผู้ว่าการฯ โดยตรง ที่นอกจากจะมุ่งเน้นความเเข็งเเกร่งในการบริหารงานภายในจากกองเลขานุการและวิเทศสัมพันธ์เเล้ว ยังมีภารกิจของการเชื่อมความสัมพันธ์ในมิติของความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันกับกระทรวงการท่องเที่ยวเเละกีฬา เเละอีกมิติหนึ่งของสำนักผู้ว่าการที่นับได้ว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่ก่อตั้งมาจากวิสัยทัศน์ของผู้ว่าการการท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน นั่นก็คือกองบริหารความยั่งยืน ที่ได้นำเนื้องานที่สำคัญ 3 เรื่องหลักที่จะผลักดันให้องค์กรมุ่งสู่ความยั่งยืนได้อย่างแข็งแกร่งมารวมกันไว้ เรื่องแรก คือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งนับเป็นหัวเรือใหญ่ในการนำ ททท. ให้เติบโตได้จากการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง ททท. กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เรื่องที่ 2 คือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และสนองตอบประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน  ตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจนนำไปสู่ภาพลักษณ์ที่ดีของ ททท. เอง และ เรื่องสุดท้าย คือการขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กร ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งกระบวนการทำงานภายในองค์กร ตลอดจนสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตอบสนองวิสัยทัศน์องค์กรได้  

คุณจิระวดี เล่าต่อถึงแนวทางการทำงานส่งเสริมการตลาดของการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงการส่งเสริมให้เกิดอัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพเพื่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนว่า ททท.ยังคงปักหมุดไทยให้เป็น “ปีแห่งการท่องเที่ยว” ทั้งการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ กับการสร้างแคมเปญทางการท่องเที่ยว Meaningful Travel โดยใช้กลยุทธ์คำว่า “ใจ” มาเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนแนวคิด ประกอบไปด้วย 

• ใจรักษ์ – สำนึกดีต่อชุมชน และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิตินี้จะเชื่อมสู่การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวชุมชนได้ออ่างหลากหลาย

• ประทับใจ – ต่อประสบการณ์ที่ได้รับจากสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มิตินี้จะสร้างการบอกต่อและเพิ่มความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว

• มีใจ – กลับมาเยี่ยมเยือนอีกเมื่อมีโอกาส และสำหรับด้านนี้เมื่อเกิดความประทับใจ นักท่องเที่ยวทุกคนจะกลับมาที่ไทยอีกหลายๆ ครั้ง 

สุดท้ายภารกิจที่สำคัญที่ ททท. หวังจะผลักดันให้สำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ นั่นคือเป้าหมายของผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มุ่งหวังว่าจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ททท. ผ่านหลักการ Sustainable Tourism Goals หรือ STGs การขับเคลื่อนระบบนิเวศน์ด้านการท่องเที่ยวให้รองรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งได้แนวทางมาจาก Sustainable Development Goals : SDGs (SDGs) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จากองค์การสหประชาชาติ ด้วยหลัก STGs 17 ข้อที่จะสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ใน 4 มิติ ทั้ง การบริหารจัดการ, สังคม-เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนด้านการท่องเที่ยวของไทยเติบโตในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่นับเป็นรายได้หลักของประเทศไทย ก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน 


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *