Exclusive Interview:
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
“Innovation in your heart” ปักหมุดวาง “ไทยเป็นชาตินวัตกรรม”


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

ด้วยประสบการณ์ในการศึกษาด้านนิติศาสตร์ ผนวกกับความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และกฏหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา  ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA คนล่าสุดเผยว่า “ทรัพย์สินทางปัญญาก็คือนวัตกรรมอย่างหนึ่ง” เพียงแค่เราทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาไม่เป็นแค่งานวิจัยที่คิดค้นไว้ขึ้นทะเบียนหรือที่เรามักคุ้นกับคำว่า “ขึ้นหิ้ง” แค่เพียงปรับผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนสู่ตลาดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพียงเท่านี้ทรัพย์สินทางปัญญาก็สามารถต่อยอดสู่การเป็นนวัตกรรมได้

ดร.กริชผกา ขยายความต่อไปว่า ที่ผ่านมาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสผ่านการให้ทุนนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้ ฝึกอบรม การพัฒนาคุณภาพของผู้ประกอบการ ตลอดจนติดตามปัญหาของผู้ประกอบการและให้ข้อแนะเสนอเชิงนโยบาย ในฐานะผู้ประสานงานเชื่อมโยง (System Integrator) ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator) เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายสู่ลำดับที่ 30 ในการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index-GII) ให้ได้ภายในปี 2573 ด้วยความตั้งใจเราจึงอยากปักหมุดให้ NIA กับก้าวเดินต่อจากนี้มุ่งสู่การเป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมไทย (Focal Conductor)” หรือใช้จิตวิญญาณสู่การสร้างนวัตกรรม “Innovation in your heart”

ดร.กริชผกา เล่าต่อไปว่า การเดินหน้าปักธงวางไทยสู่การเป็นชาตินวัตกรรม ทาง NIA ได้กำหนดกลยุทธ์ 2 ลด 3 เพิ่ม เพื่อเสริมศักยภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ในมิติ “ลด” แบ่งออกเป็น “ลดความเหลื่อมล้ำ” ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่ทุกคนสามารถเข้ามาอยู่ในอีโคซิสเท็ม และได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรม โดยปรับเปลี่ยนการจัดสรรทุนที่แบ่งตามสายอุตสาหกรรมมาเป็นรายภูมิภาค ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเติบโตเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเมืองใหญ่ และอีกหนึ่ง “ลด” คือ “ลดอุปสรรค” ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมผ่านการทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ การปรับปรุงระเบียบข้อบังคับ มาตรฐานบางประการ รวมถึงลดทอนอุปสรรคการเชื่อมโยงกับตลาดที่ส่งผลต่อการเติบโตของผู้ประกอบการนวัตกรรม เป็นต้น

สำหรับในกลยุทธ์ด้านเพิ่ม ประกอบไปด้วย เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เช่น นักลงทุนอิสระที่พร้อมให้ทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพขนาดเล็ก (Angel Investor) นักลงทุนที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ เป็นต้น เพิ่มต่อมา คือ “เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการนวัตกรรม” เพื่อยกระดับสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมในอนาคต และอีกเพิ่ม คือ “เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการนวัตกรรม” ผ่านการส่งเสริมผู้ประกอบการในการกำหนดแผนธุรกิจ มีแผนบริหารจัดการที่ดี และวางกรอบช่องทางการเติบโตอย่างมีศักยภาพ

ก้าวเดินต่อจากนี้ NIA ได้กำหนดการให้ทุนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญในการกำหนดและสร้างนวัตกรรมที่ดี ถือเป็นอีกการเปลี่ยนผ่านที่ส่งเสริมไทยสู่การเป็นชาติชั้นนำที่ขับเคลื่อนด้วย “นวัตกรรม”


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *