
นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
“ประเทศไทยมีเป้าหมายในการขยับเข้าไปสู่ Carbon neutrality Target หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และในภาคการขนส่งก็เป็นอีกมิติหนึ่ง เพราะฉะนั้นทางคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จึงได้ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปี 2021 ทั้งการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ZEV หรือ Zero Emission Vehicle (รถยนต์ไฟฟ้า 100% และ รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ไม่นับรวมรถยนต์สันดาปและรถปลั๊กอิน- ไฮบริด ,รถไฮบริด) โดยในปี 2025 เป้าหมายในด้านการใช้ คือยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถยนต์นั่ง – รถกระบะไฟฟ้า ในสัดส่วน 30 % หรือประมาณ 225,000 คัน หลังจากนั้นในปี 2030 เป้าหมายจะอยู่ที่ 50% และ 100% ในปี 2035 ตั้งเป้าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ZEV ทั้งหมดในทุกประเภท” นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เผยถึงเป้าหมายของไทยในการก้าวสู่การเปลี่ยนด้านพลังงานในวงการยานยนต์
นายกฤษฎา ขยายความต่อไปว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตั้งเเต่ปีค.ศ. 2015 ในช่วงนั้นยานยนต์ไฟฟ้ายังถูกตั้งคำถามในสังคม เเละส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะได้รับการตอบรับจากผู้ใช้ในประเทศไทย เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ เเต่สมาคมฯมองว่ายานยนต์พลังงานสะอาดจะเป็นอนาคตแน่นอน ซึ่งวันนี้บทบาทสำคัญของสมาคมฯ คือ มุ่งที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนด้วยยานยนต์พลังงานสะอาด โดยมีกรรมการและสมาชิกของสมาคมมาร่วมทำงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในด้านการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร ด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรม ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการประชาสัมพันธ์รวมถึงการสนับสนุนด้านความรู้แก่ผู้บริโภค เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในปี 2566 ที่ผ่านมาในประเทศไทย กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จดทะเบียนใหม่นั้นมีอัตราการเติบโตในภาพรวมเติบโตจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ราว 690% ซึ่งมีปัจจัยบวกจากนโยบายของภาครัฐที่มีการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และไม่เพียงรถยนต์รถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันรถมอเตอร์ไซค์ก็หันมาเปลี่ยนเป็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้นเนื่องจากมีการจ่ายค่าเชื้อเพลิงที่ประหยัดกว่า สะดวกกว่าโดยการถอดสลับแบตเตอรี่แล้วใช้งานต่อได้เลย นิยมมากในกลุ่มไรเดอร์ มีการสนับสนุนให้ใช้รถสาธารณะไฟฟ้ามากขึ้นอย่างรถบัส โดยสอดคล้องนโยบายของภาครัฐในปัจจุบัน ที่หันมาสนับสนุนพลังงานสะอาดมากขึ้น และปรับตัวใช้ในภาคการขนส่งทุกจังหวัด
นายกฤษฎา กล่าวขยายความต่อไปว่า ในปี 2567 และอนาคตอันใกล้นี้มีแนวโน้มนโยบายต่างๆจากรัฐบาลและหน่วยต่างๆ สนับสนุนการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการเดินทางสาธารณะ โดยในปีนี้จะมีค่ายรถยนต์ต่างๆเข้ามาประกอบและผลิตในประเทศไทย ตามที่ได้เซ็น MOU กันไว้ระหว่างกรมสรรพสามิต และบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์เป็นอันดับ 11 ของโลก บนพื้นฐานของการผลิตในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขาดในส่วนของการลงทุนเพื่อพัฒนา R&D ในด้านรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนี่คือโจทย์สำคัญของไทย
ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงประเด็น สถานีชาร์จ EV หรือ Charging Station นายกสมาคมฯ ขยายความว่า ข้อมูล ณ เดือน กันยายน 2566 ว่าในไทยมีจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะทั้งหมด 8,702 หัวจ่าย โดยรวมทั้งแบบไฟฟ้ากระแสตรง (DC) และไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) จากสถานีชาร์จทั้งหมด 2,222 แห่ง ในจำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าดังกล่าวแบ่งเป็นสถานีชาร์จ AC สาธารณะ 4,806 หัวจ่าย ขณะที่เป็นแบบชาร์จเร็ว (DC fast charge) 3,896 หัวจ่าย โดยสมาคมฯ ส่งเสริมให้ภาครัฐสนับสนุนสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าต่อสถานีชาร์จสาธารณะในไทยให้อยู่ที่ราว 10 คันต่อ 1 หัวชาร์จไฟฟ้า เพื่อให้การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นไปอย่างสะดวกสบาย ที่สำคัญในอนาคตสมาคมฯ ร่วมกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จ ภายใต้ความร่วมมือของ Charging Consortium จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการชาร์จเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงทำงานร่วมกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จต่างๆ เพื่อให้มีโครงการที่สามารถเชื่อมต่อทุกๆผู้ให้บริการได้ และสามารถใช้งานและชำระเงินต่างผู้ให้บริการได้ เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสะดวกในการใช้บริการได้ในทุกๆที่
และนี้คือส่วนหนึ่งของการทำงานในฐานะฟันเฟืองเล็ก ๆ จากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ยุคของ กฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ต้องการให้รถยนต์ไฟฟ้ามารองรับการใช้ชีวิตได้ และเข้ามาสร้างการเปลี่ยนผ่านยานยนต์ในไทยให้ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสอดรับกับทิศทางโลก