วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ภายหลังจากที่ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่แก้ปัญหาพร้อมกำหนดมาตรการเพื่อฟื้นฟูสภาพเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล ในการนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ขานรับนโยบายและเดินหน้าสานต่ออย่างเคร่งครัด พร้อมกับมอบหมายให้คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ลงพื้นที่ติดตามและสำรวจสถานภาพหญ้าทะเล ในพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อติดตามสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรม พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำทะเล หญ้าทะเล และตะกอนดิน นำไปตรวจสอบหาสาเหตุความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล โดยมีนางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชียวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ตลอดจนคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงพื้นที่ เพื่อบูรณาการความร่วมกันระหว่างกรมทะเล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง พร้อมกับรายงานผลความคืบหน้าให้ทราบโดยทั่วกัน
สำหรับการจัดประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ ได้มีการหารือจัดทำแผนการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรม รวมถึงแนวทางการแก้ไขและฟื้นฟูหญ้าทะเล พร้อมทั้งแบ่งกลุ่มเพื่อออกสำรวจระบบนิเวศทางทะเล 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสำรวจหญ้าทะเล กลุ่มสำรวจสัตว์ทะเลหายาก และกลุ่มสำรวจสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โดยออกสำรวจบริเวณพื้นที่แหลมจูโหย เกาะลิบง และเกาะมุกด์ ระหว่างวันที่ 15 – 16 กุมภาพันธ์ 2567 จากการลงพื้นที่สำรวจแหลมจูโหย พร้อมกับประชุมหารือร่วมกับชาวบ้านเกาะลิบง ได้ข้อสรุปว่าหญ้าคาทะเลมีสภาพเสื่อมโทรม มีร้อยละการปกคลุมพื้นที่น้อย โดยหญ้าคาทะเลมีลักษณะปลายใบขาดสั้น และบางส่วนยืนต้นตาย สาเหตุหลักอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของอนุภาคตะกอนดิน พบพื้นทะเลมีลักษณะขนาดอนุภาคตะกอนดินโคลนลดน้อยลง ตะกอนทรายเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสมุทรศาสตร์ คือ ระดับน้ำทะเลมีการลดระดับมากกว่าปกติและมีระยะเวลานานขึ้น จึงทำให้เกิดการผึ่งแห้งของหญ้าทะเลนานมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้หญ้าทะเลอ่อนแอลงได้ และในส่วนของการสำรวจบริเวณด้านใกล้ชายฝั่ง บริเวณ เกาะมุกด์ พบมีหญ้าใบมะกรูดสมบูรณ์ มีการปกคลุมพื้นที่ 70-80% แต่พบหญ้าคาทะเลเสื่อมโทรมลง ใบขาดสั้นเช่นเดียวกับหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการหญ้าทะเลอย่างสุดขีดความสามารถ พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาและดำเนินงานทุกขั้นตอน โดยเริ่มจากการวิจัย อนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเลต่อไป “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”