กรมทะเล ร่วมกับ The Ocean Cleanup จับมือพันธมิตร เปิดตัวเรือดักจับขยะบนผิวน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ Interceptor 019 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย


วันที่ 26 มีนาคม 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ The Ocean Cleanup จับมือพันธมิตร เปิดตัว Interceptor 019 ซึ่งเป็นเรือดักจับขยะบนผิวน้ำด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ กรุงเทพมหานคร ความสำเร็จครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเชิงวิจัย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกในแม่น้ำสายสำคัญทั่วโลก การดำเนินโครงการครั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ร่วมเป็นพันธมิตร ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง The Ocean Cleanup กรุงเทพมหานคร เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย บริษัท อีโคมารีน จำกัด บริษัท เอเชียน มารีนเซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมติดตั้งและดำเนินการ Interceptor 019 ในการดักจับขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ให้การสนับสนุนและร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะทะเลเป็นอย่างดี รวมถึงการศึกษาวิจัยและป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้เรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ หรือเครื่อง Interceptor ในครั้งนี้ ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (รมว.ทส.) กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความร่วมมือในการติดตั้ง Interceptor 019 ในแม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนี้ จะสนับสนุนการทำงานเชิงรุกการนำเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ แสดงความจำนงในการร่วมดำเนินงานบริหารจัดการขยะทะเล เพื่อลดผลกระทบของขยะทะเลต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งกิจกรรมการเก็บขยะชายหาด การจัดทำมาตรการลดปริมาณขยะในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง มาตรการชายหาดปลอดบุหรี่ การพัฒนานวัตกรรมทุ่นกักขยะ (Boom และ Litter Trap) การจัดเก็บขยะโดยใช้เรือเก็บขยะ การจัดทำโครงการพื้นที่สาธิตการบริหารจัดการขยะทะเลครบวงจรอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงโครงการบริหารจัดการขยะทะเลบริเวณปากแม่น้ำแบบมีส่วนร่วม และในวันนี้ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เครื่องอินเตอร์เชพเตอร์ ลำที่ 19 ของโลก ลำนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีในการจัดเก็บขยะพลาสติกลอยน้ำซึ่งจะช่วยบรรเทาและป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล รวมทั้งโอกาสในการศึกษาวิจัยระหว่างภาคีเครือข่ายภายใต้ความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการขยะทะเลของประเทศไทย ที่มีประสิทธิภาพต่อไป

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ในนามของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอขอบคุณหน่วยงานพันธมิตรเป็นอย่างยิ่ง ที่ให้การสนับสนุนและร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะทะเลเป็นอย่างดี อันจะเห็นได้จากความร่วมมือในการศึกษาวิจัยและป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้เรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ หรือเครื่อง Interceptor ในครั้งนี้ สำหรับความเป็นมาของความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากร
ทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ราชอาณาจักรไทย และองค์กรดิโอเชียนคลีนอัพ (The Ocean Cleanup) ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยองค์กรดิโอเชียนคลีนอัพ ได้นำเสนอแนวคิดการใช้เทคโนโลยีการจัดการขยะทะเลในประเทศไทย ต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมา กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าว โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจในการดำเนินงานร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ นับตั้งแต่การเสนอแนวคิดผ่านการเตรียมงาน การศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ในการติดตั้ง ตลอดจนการติดตั้งเครื่อง Interceptor ในวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ กรม ทช. ได้รับความอนุเคราะห์ในการศึกษาและอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา อาทิ กรุงเทพมหานคร สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กรมเจ้าท่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คลังสินค้าราชบูรณะ (กระทรวงพาณิชย์) เป็นอย่างดีเสมอมา

ในส่วนของภารกิจ กรม ทช. ได้ดำเนินการวางแผนป้องกัน แก้ปัญหา และศึกษาวิจัย เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์เป้าหมาย และให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภายในประเทศ ต่างประเทศ รวมถึงภาคเอกชน เป็นไปตามหลักการของการเป็นภาครัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) ในการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา แสวงหารูปแบบการจัดการแนวใหม่ องค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาขยะทะเล อันจะนำไปสู่เครือข่ายอนุรักษ์ที่มีความเข้มแข็งและการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างยั่งยืน “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *