ม.อ. ร่วมกับ IPF ส่งท้ายเวทีปาฐกถาพิเศษ โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ International Peace Foundation (IPF) และการสนับสนุนของ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด โรงแรมดุสิตธานี แอนด์รีสอร์ท ธนาคารกสิกรไทย และ บีเอ็มดับเบิลยู เปิดปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ Prof. Randy W.Schekman ในหัวข้อ The role of basic science in biotechnology ภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน และในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566 โดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวเปิดงาน Mr. Uwe Morawetz, Founding Chairman of International Peace Foundation กล่าวรายงาน รศ. นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษา และผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในวันที่ 27 มีนาคม 2567

          ศาสตราจารย์ แรนดี้ ดับเบิลยู เชคแมน เป็นนักชีวเคมีและนักชีววิทยาด้านเซลล์ชาวอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ในปี ค.ศ. 2013 จากผลงานการค้นพบข้อมูลพื้นฐานทางพันธุกรรมของระบบการขนส่งภายในเซลล์ โดยถุงขนาดเล็กที่เรียกว่าเวสิเคิล (vesicle) ที่มีลักษณะคล้ายฟองอากาศเหล่านี้จะทำหน้าที่ขนส่งโมเลกุลต่าง ๆ เช่น เอนไซม์ ฮอร์โมน และสารเคมีในสมอง ไปยังจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ภายในเซลล์ การขนส่งนี้เป็นกระบวนการที่มีการควบคุมอย่างละเอียด หากระบบขนส่งข้างต้นทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรมในร่างกายของมนุษย์

รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ที่ศาสตราจารย์เชคแมนได้รับ เป็นการยกย่องความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของเขาเกี่ยวกับกลไกทางพันธุกรรมที่อยู่เบื้องหลังการขนส่งเวสิเคิล นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัล Gairdner Foundation International Award และรางวัล Albert Lasker Basic Medical Research Award รวมทั้งยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ National Academy of Sciences และ American Academy of Arts and Sciences อีกด้วย

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี กล่าวว่า กิจกรรมปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series โดยมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับ International Peace Foundation (IPF) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566

“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม การวิจัย และการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในภาคใต้และประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้ได้มาจากคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ม.อ. ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เชื่อว่าการปาฐกถาพิเศษโดย Prof. Randy W.Schekman ในหัวข้อ The role of basic science in biotechnology ในครั้งนี้ จะสร้างการรับรู้แก่เครือข่ายการวิจัยทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้ ม.อ. ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา และผู้เข้าร่วมงานทุกคน สู่การยกระดับชุมชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”

ด้าน รศ. นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ Prof. Randy W.Schekman ในหัวข้อ The role of basic science in biotechnology ซึ่งในฐานะผู้ที่เชี่ยวชาญทางการแพทย์ การคิดค้นนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพในปัจจุบันได้ก้าวข้ามความขัดแย้ง ตลอดจนส่งเสริมความเข้าใจและสันติภาพ

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มุ่งสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมแก่ประชาชนทั้งในภาคใต้และประเทศ และในฐานะสถาบันทางการแทพย์และโรงพยาบาลที่มีการรับส่งต่อผู้ป่วยที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ ยังมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในการยกระดับสังคมและสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเป็นบุคลากรทางการแทพย์ที่มีคุณภาพในระดับนานาชาติ เชื่อว่าการปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลในครั้งนี้ จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ในการเดินหน้าสู่ความสำเร็จในด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้อย่างแน่นอน


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *