เรียบเรียงโดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI

สืบเนื่องจาก ปัญหาขยะถือว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกในปัจจุบัน หากไม่มีระบบจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้มีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนบกและ ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึง ห่วงโซ่อาหารและชีวิตมนุษย์

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI กล่าวว่าแนวทางหนึ่งที่เป็น ที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การจัดการขยะตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องมี การจัดการและเเยกขยะอย่างถูกวิธี ตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้ง่ายสำหรับการนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์ โดยในบริบทของสังคมไทยพบว่ากลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่ช่วยให้มีการเก็บวัสดุใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบ คือ การรับและเก็บวัสดุรีไซเคิลโดยซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อเชื่อมโยงระบบรวบรวมวัสดุรีไซเคิลและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้จะเป็น ส่วนสำคัญในการยกระดับและเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล เพื่อความยั่งยืนในอนาคต
ซึ่งเป็นที่มาของโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการลงทะเบียนซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าให้เกิดความเชื่อมโยงกันในระดับประเทศและยกระดับมาตรฐานของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อนำวัสดุรีไซเคิลคุณภาพดีกลับเข้าสู่ระบบการผลิต อันเป็นการสอดคล้องตามแนวทางระบบเศรษฐกิจ BCG และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (หมุดหมายที่ 10 เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ)
โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในฐานะหน่วยงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. และองค์กรภาคธุรกิจจะร่วมดำเนินงานโครงการดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมสู่การเปลี่ยนแปลง ของสังคม อันเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาการจัดการขยะที่เกิดขึ้น จึงได้มีการพัฒนา “หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า” เพื่อนำหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นนี้มาใช้ในการฝึกอบรมให้กับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่เป้าหมาย (กรุงเทพฯ และจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC) เพื่อนำทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพตามแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ รวบรวมขยะ และสร้างมูลค่าจาก การซื้อขายขยะ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้ระบบนิเวศการเก็บกลับวัสดุเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลมีความเข้มแข็งขึ้น และทำให้วัสดุที่เข้าสู่ระบบมีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งมีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนด กฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของตนเอง และประชาชนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบ
ทั้งนี้ ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการฯ จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการลงทะเบียนซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าให้เกิดความเชื่อมโยงกันในระดับประเทศ และยกระดับมาตรฐานของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในทุกมิติทั้งด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย วิชาชีพ การดำเนินธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity Ecosystem) โดยการนำวัสดุรีไซเคิลคุณภาพดีกลับเข้าสู่ระบบได้ในพื้นที่นำร่องกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC และสามารถนำวัสดุกลับเข้าสู่ระบบได้ทั้งหมด 3,000 ตัน เมื่อจบโครงการ และผลักดันให้เกิดนโยบายข้อกำหนดกฎหมายที่ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าสามารถจดทะเบียนได้ถูกต้อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ และร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกบนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดคล้องกับวาระแห่งชาติ BCG Model