ยกระดับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าสู่การสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน


เรียบเรียงโดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI

คุณรู้หรือไม่ว่า? ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกคือ “ปัญหาขยะ” โดยในประเทศไทยมีขยะมูลฝอยชุมชนประมาณปีละ 28 ล้านตัน และเมื่อจำนวนขยะที่มหาศาลหากไม่มีระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพเพียงพอก็จะทำให้มีขยะหลุดรอดออกมาสู่สิ่งแวดล้อม และนั้นคือหายนะที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึง ห่วงโซ่อาหารและชีวิตมนุษย์

ในมุมมองของผมที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาเกินครึ่งชีวิต มองว่า แนวทางหนึ่งที่จะช่วยจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือ “การจัดการขยะตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” คือการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ลดการเกิดของเสีย จนท้ายที่สุดนำไปสู่การไม่มีของเสียเกิดขึ้น แต่หากจะทำให้การจัดการขยะด้วยแนวคิด Circular Economy เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมในการจัดการขยะด้วยแนวคิดนี้คือ การจัดการและเเยกขยะอย่างถูกวิธี ตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้ง่ายสำหรับการนำไปผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์

“บริบทของสังคมไทยพบว่ากลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่ช่วยให้มีการเก็บวัสดุใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบ คือ การรับและเก็บวัสดุรีไซเคิล ด้วยอาชีพที่อยู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานนั้นก็คือ ซาเล้ง และร้านรับซื้อของเก่า กลุ่มนี้คือตัวแปรสำคัญที่จะเชื่อมโยงระบบรวบรวมวัสดุรีไซเคิลพร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างชัดเจน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันหากจะเพิ่มศักยภาพในการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การให้ความสำคัญกับการยกระดับและเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล เพื่อความยั่งยืนในอนาคตเป็นเรื่องที่สำคัญ”

วันนี้ผมจึงอยากให้ทุกคนได้รู้จักกับ “โครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า” โครงการที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และองค์กรภาคธุรกิจ ผสานความร่วมมือในการเดินหน้าพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการลงทะเบียนซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าให้เกิดความเชื่อมโยงกันในระดับประเทศและยกระดับมาตรฐานของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อนำวัสดุรีไซเคิลคุณภาพดีกลับเข้าสู่ระบบการผลิต ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางระบบเศรษฐกิจ BCG และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (หมุดหมายที่ 10 เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ)

“การนำวัสดุใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบเป็นกระบวนการสำคัญกระบวนการหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้มีระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ในการนำวัสดุใช้แล้วกลับเข้ามาในระบบการผลิต จึงทำให้มีขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ใหม่และรีไซเคิลเพียง ร้อยละ 25 ของขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือ 8.8 ล้านตัน จากขยะทั้งสิ้นกว่า 28 ล้านตัน (กรมควบคุมมลพิษ 2565) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเก็บรวบรวมและนำวัสดุรีไซเคิลกลับเข้าสู่ระบบอย่างเต็มประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าส่วนใหญ่ยังดำเนินการแบบไม่ได้มาตรฐานและไม่ถูกต้องตามสุขอนามัย ทั้งยังไม่มีสวัสดิการคุ้มครองที่เหมาะสม รวมถึงมักขาดองค์ความรู้ที่จะทำให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยจากข้อมูลพบว่าในแต่ละปีมีมูลค่าการซื้อขายขยะรีไซเคิลจำนวนมากกว่า 3 แสนล้านบาท โดยกลไกหลักที่เชื่อมโยงขยะและวัสดุรีไซเคิลจากครัวเรือนไปสู่โรงงานแปรรูปวัสดุ คือ ซาเล้ง รถปิกอัพเร่ตามซอย และร้านรับซื้อของเก่า นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยยังประเมินตลาดรีไซเคิลไทยว่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ยถึงปีละ 5.7% ใน 5 ปีข้างหน้าโดยปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ที่สร้างความต้องการให้เกิดการหมุนเวียนนำขยะของเหลือใช้กลับเข้าสู่ระบบมาเป็นทรัพยากร

จากการดำเนินงานของ TEI ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างยั่งยืนพบว่าการจัดการขยะของประเทศไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและระบบการเชื่อมโยงการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางที่เข้มแข็ง ทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการขยะและการเก็บกลับวัสดุรีไซเคิลยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ดังนั้น จึงมีการบูรณาการดำเนินงานการจัดการขยะอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำวัสดุใช้แล้วที่สามารถรีไซเคิลได้หรือมีคุณค่ากลับเข้าสู่ระบบผ่านการพัฒนา Smart Recycling Hub ที่ครอบคลุมการเก็บกลับและจัดการวัสดุใช้แล้วและขยะตั้งแต่ต้นทาง (ผู้บริโภค) จนถึงปลายทาง (โรงงานรีไซเคิล โรงงานเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน) เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของวัสดุเหลือใช้และป้องกันไม่ให้ขยะหลุดรอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เราพบว่าองค์ประกอบที่สำคัญอีกอันหนึ่งของการสร้าง Smart Recycling Hub หรือ ระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ “ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า” ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขนย้ายวัสดุรีไซเคิลจากครัวเรือนมาถึงศูนย์รวบรวมและสู่โรงงานรีไซเคิล

โดย โครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่านี้จะมีความเชื่อมโยงกับ Smart Recycling Hub ซึ่งเป็นโครงการสร้างระบบ Infrastructure ที่จะช่วยแก้ไขปิดจุดบกพร่องของ Value Chain ที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ต้นทาง (ขยะจากครัวเรือน) จนถึงปลายทาง (โรงงานรีไซเคิล) โดยการสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ครอบคลุมวัสดุรีไซเคิลทุกประเภท

“หนึ่งในเป้าหมายการทำโครงการของเราคือการพัฒนา “หลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า” เพื่อนำหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นนี้มาใช้ในการฝึกอบรมให้กับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่เป้าหมาย (กรุงเทพฯ และจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC) เพื่อนำทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพตามแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ รวบรวมขยะ และสร้างมูลค่าจากการซื้อขายขยะ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้ระบบนิเวศการเก็บกลับวัสดุเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลมีความเข้มแข็งขึ้น และทำให้วัสดุที่เข้าสู่ระบบมีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งมีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนด กฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของตนเอง และประชาชนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบ

“หากถามว่าอะไรคือตัวชี้วัดความสำคัญของโครงการนี้ ผมตอบได้เลยว่าการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการลงทะเบียนซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าให้เกิดความเชื่อมโยงกันในระดับประเทศและยกระดับมาตรฐานของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในทุกมิติทั้งด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย วิชาชีพ การดำเนินธุรกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity Ecosystem) โดยการนำวัสดุรีไซเคิลคุณภาพดีกลับเข้าสู่ระบบได้ในพื้นที่นำร่องกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC (ระยองและชลบุรี) และสามารถนำวัสดุกลับเข้าสู่ระบบได้ กว่า 3,000 ตัน เมื่อสิ้นสุดโครงการและผลักดันให้เกิดนโยบายข้อกำหนดกฎหมายที่ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพ   ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าสามารถจดทะเบียนได้ถูกต้อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ และร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกบนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดคล้องกับวาระแห่งชาติ BCG Model”

ท้ายนี้ การร่วมแก้ไขปัญหาขยะของประเทศไทยบนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะสร้างการบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circularity Ecosystem) อันเป็นการขับเคลื่อนระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง พร้อมกับการตอบรับกับนโยบาย EPR เพื่อการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร


Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *