
องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ประเทศต่างๆ ตื่นตัว และสนใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยในปีนี้ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ คือ การลดมลภาวะจากพลาสติก WORLD ENVIRONMENT DAY 2025 – #BEATPLASTICPOLLUTION
การสถาปนาวันสิ่งแวดล้อมครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โดยได้ทำการจัดการประชุมที่เรียกว่า “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อม” (UN Conference on the Human Environment) ณ กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน

จากบทความของ Conor Lennon ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ UN ได้กล่าวถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามองในปี 2025 ดังนี้ (https://news.un.org/en/story/2024/12/1158446)
เราจะยังรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5°C ได้จริงหรือ (Can we keep 1.5 alive?) ในเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมาโลกอุ่นที่สุดในประวัติศาสตร์ และมีถึง 11 เดือนที่อุณหภูมิผิวโลกสูงขึ้นเกิน 1.5°C ทำให้โดยเฉลี่ยตลอดทั้งปีโลกเราร้อนขึ้น 1.47°C ไปแล้ว (NASA Global Temperature) ปลายปีนี้วันที่ 10 ถึง 21 พฤศจิกายน 2025 จะมีการประชุม COP30 ที่เมืองเบเลม ประเทศบราซิล คาดว่าจะมีการตกลงกันเรื่องมาตรการลดโลกร้อนที่จริงจัง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น

การปกป้องธรรมชาติ (Protecting Nature) การประชุม COP30 ในพื้นที่ป่าฝนอย่างอเมซอนนับเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการปกป้องธรรมชาติ จากข้อมูลในปี 2020 โลกของเรามีพื้นที่ป่าเหลือเพียง 40 ล้านตารางกิโลเมตร (ประมาณ 4 เท่าของประเทศจีน) และมีการลดลงทุกปี ส่วนประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 32.2% ของพื้นที่ทั้งประเทศ (ธนวัฒน์ จินจารักษ์ นักวิจัยอาวุโส ฝ่ายสิ่งแวดล้อม RISC) โดยนนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทองเป็น 3 จังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าไม้เลยแม้แต่ไร่เดียว (ข้อมูลจากกรมป่าไม้)
ใครเป็นคนจัดการค่าใช้จ่าย (Who’s going to pay for all this?) เมื่อประเทศกำลังพัฒนาบอกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีการบริโภคสูง ใช้พลังงานฟอสซิลสูง ปล่อยคาร์บอนเยอะสมควรจะต้องจ่ายมากกว่า แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็สวนกลับว่าประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะอย่างจีนต่างหากที่ต้องจ่ายมากที่สุด ในการประชุมCOP29 ในปี 2024 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานที่ว่ากันว่าเป็น Financial COP ได้มีข้อตกลงมากมายในการแก้ไขเรื่องเงินทุน ก็ได้แต่หวังว่าจะดำเนินการกันไปได้ เพราะเมื่อไรก็ตามมีเรื่องเงินเกี่ยวข้องก็ไปไม่รอดทุกที
การวางรากฐานทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด (Laying down the law) เมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice – ICJ) ให้ความสนใจกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แต่ละประเทศจะต้องมีการวางรากฐานทางกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัดมากขึ้น มีบทลงโทษ และบทช่วยเหลือต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สะเทือนมาถึงประเทศไทยอย่างรุนแรงสร้างความเสียหายมากมาย แต่น้อยคนจะรู้ว่าเราสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากภาครัฐได้
การลดมลภาวะจากพลาสติก (Plastic Pollution) อุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลกยังคงขยายตัว แม้ว่าจะมีการรณรงค์ลดปริมาณการใช้พลาสติก โดยเฉพาะถุงพลาสติก ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว หลอดพลาสติก กล่องบรรจุอาหาร (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
ประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งประกอบด้วย 2 เป้าหมาย คือ การลดและเลิกใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายใน พ.ศ. 2570
“We are the first generation to feel the effect of climate change and the last generation who can do something about it.” — อดีตประธานาธิบดีบารัคโอบามา กล่าวคำพูดสำคัญไว้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส เมื่อปี 2558 ว่า “เราเป็นคนเจนแรกที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ และเป็นเจนสุดท้ายที่จะต้องทำอะไรกับมัน” ถ้าเราต้องการ Greenlife เราต้องลงมือทำนั่นเองครับ